อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ "สามมหาอำนาจ" ที่ต้องเลือก

12 มี.ค. 2566 | 03:30 น.

อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก รางวัลที่ 2 บทความข่าวเชิงวิเคราะห์ (ลับคมความคิด) ประจำปี 2565 รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

การประกวด “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์” (ลับคมความคิด) ประจำปี 2565 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยได้รับการสนับสนุนจากธปท. และจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการใช้ชื่อ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะที่เป็นปราชญ์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก โดย : วสวัตติ์ โอดทวี จากฐานเศรษฐกิจ ได้รับรางวัลที่ 2 จาก การโครงการประกวด “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์”(ลับคมความคิด) ครั้งที่ 16 ประจำปี 2565 รางวัลบทความ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

สำหรับเนื้อหาของบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก มีรายละเอียดดังนี้
 

เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund : IMF) ออกมาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของเอเชียที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสวนทางหลายประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดย IMF มองว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.7% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตราว 2.8%

ข้อมูลข้างต้นนี้สื่อความอะไร ให้เราได้เห็นบ้าง?

แน่นอนว่า ด้วยตัวเลขและสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากทุกข์ระทมซมพิษโควิด-19 มานานกว่า 3 ปี โดยมี “การท่องเที่ยว” เป็นพระเอกหลักช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เริ่มกลับมาฟื้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า 

แต่อีกใจหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในการแสดงบทบาทสำคัญต่อสาธารณะในฐานะของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการประกาศตัวว่า ยังให้ความสำคัญกับภูมิภาคเล็กๆ ของโลกอย่างอาเซียน

ย้อนกลับไปก่อนหน้าไม่นาน เราคงได้เห็นการประชุมในระดับผู้นำโลก 3 เวทีติด ๆ กัน ซึ่งเกิดขึ้นบนดินแดนอาเซียน นั่นคือ

 

ภาพประกอบบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก

1. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Cambodia 2022) ที่ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565

2. การประชุมสุดยอดผู้นำ G20ครั้งที่ 17 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565 

3. การประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022 Thailand) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2565

สาระสำคัญของการประชุมทั้งสามเวทีชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาแสดงแสนยานุภาพและบทบาทของชาติมหาอำนาจโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น บนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้นทุนทางด้านทรัพยากรที่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ข้อมูลของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในปี 2566 ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า เศรษฐกิจประเทศกลุ่มอาเซียน มีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในอาเซียน จะมีอัตราการขยายตัว ดังนี้ 

อินโดนีเซีย ขยายตัว 4.5% มาเลเซีย ขยายตัว 4.2% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 4.5% และเวียดนาม ขยายตัว 5.2% ขณะที่ประเทศ ไทย สศช. มองว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ระหว่าง 3-4% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งประเมินว่าจะโตอยู่ที่ 3.2% 

 

ภาพประกอบบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก

 

แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2565 เล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศ ยังคงมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 

แต่เมื่อเทียบกับชาติผู้นำทางเศรษฐกิจหลักแล้ว ถือว่า “ไม่สาหัส” และยังพอประคับประคองให้อยู่รอดได้ เพราะจากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป เอาไว้ในทิศทางที่ยังน่ากังวล นั่นคือ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 0.7% ในปี 2566 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จาก 1.7% ในปี 2565 และ 5.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นผลมาจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มชะลอ ลงอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage loan rate) 

เช่นเดียวกับ เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่า จะขยายตัวแค่ 0.3% ชะลอตัวลงจาก 2.6% ในปี 2565 ตามการชะลอตัวของภาคการผลิต โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ยังคงยืดเยื้อ นำไปสู่การดำเนินมาตรการควํ่าบาตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดการนำเข้าพลังงานจาก รัสเซีย ทำให้ภาคการผลิตเผชิญกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจฝั่งเอเชียในปี 2566 เบื้องต้นยังสดใส โดยมองว่า เศรษฐกิจจีน จะขยายตัวได้ในระดับ 4.2% ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจาก 3% ในปี 2565 โดยมีแรงสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากแนวโน้มการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดมากขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของแบงก์ชาติจีน

ส่วน เศรษฐกิจญี่ปุ่น สศช. เชื่อว่า จะขยายตัวได้ในระดับที่ดีคือ 2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.4% ในปี 2565 โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ภายหลังผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังปิดประเทศเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิดมานาน

 

ภาพประกอบบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก

 

ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจข้างต้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไม “สปอร์ตไลท์” ถึงส่องมาที่อาเซียน และประเทศไทยเองก็น่าจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อกังวลใจในระดับนโยบาย นั่นคือ ประเทศไทยต้องบาลานซ์ชาติมหาอำนาจอย่างไรให้เกิดความสมดุล เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยถูกตรึงเอาไว้สามขาชาติมหาอำนาจ ประกอบด้วย

  • ขาแรก : ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองความมั่นคงกับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
  • ขาต่อมา : ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับมหาอำนาจญี่ปุ่น 
  • ขาสุดท้าย : ความสัมพันธ์ทางด้านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันในอนาคตอย่างมหาอำนาจจีน

การถ่วงนํ้าหนักในการเลือกข้างใดข้างหนึ่งเพื่อสร้างแรงดึงดูดของชาติมหาอำนาจทั้งสามนับว่า เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองโลกในปัจจุบัน เพราะหากเพลี่ยงพลํ้าเลือกข้างผิด หายนะจะเกิดขึ้นกับประเทศในทันที ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความสัมพันธ์ 

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นประธานพรรคสร้างอนาคตไทย พูดถึงเรื่องนี้บนเวทีความสัมพันธ์ไทย-จีน ในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ในงานพบปะนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า ประเทศไทยต้องสร้างความสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจของโลก โดยต้องสร้างสมดุลและผูกความสำคัญให้กระชับทั้ง 3 ชาติเอาไว้ทั้งสามด้าน

แต่ถึงวันหนึ่งที่จำเป็นต้องเลือกข้าง ทางออกก็คืออย่าตัดสินใจเพียงคนเดียว ต้องหาหนทางเลือกข้างใดข้างหนึ่งที่ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด และใช้มติภายใต้กรอบความเป็นอาเซียนตัดสินใจแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านใดด้านหนึ่งที่จะกระทบกับอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน 

เรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าละเลย ไม่วางแผน เตรียมความพร้อม หรือสร้างจุดเด่นให้กับประเทศใหม่ อนาคตประเทศไทยจะค่อยๆ หายไปจากสายตาของชาติมหาอำนาจของโลก

โชคดีหน่อยที่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังพยายามหาทางออก และสร้างความสมดุลด้านความสัมพันธ์ทั้งสามด้านอย่างเข้มข้น แม้ว่าจะมีนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาลพยายามดิสเครดิตประเทศว่า ไทยกำลังเดินตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน

 

ภาพประกอบบทความ อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก

 

แต่ช้าก่อน เพราะถ้าดูตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งรายงานตัวเลข 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2565) จะพบว่า ประเทศไทยยังมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง โดยมีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,247 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ซึ่งทั้งปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายการยื่นขอรับการส่งเสริม การลงทุนไว้ 500,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยอันดับหนึ่ง คือ พลังการลงทุน จากจีน มีเงินลงทุนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามมาด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าการลงทุนใน 2 สาขานี้ จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนในอนาคตวางแผนปั้นเศรษฐกิจฐานใหม่ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการดึงนักลงทุนจากชาติมหาอำนาจทั้งโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต่อยอดจากเศรษฐกิจฐานเดิมยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่น่าจะเป็นโอกาสของการสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศไทย ล่าสุด บีโอไอได้กำหนดไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยกัน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. BCG 2. EV 3. Smart Electronics 4. Digital และ 5. Creative

 

ข้อมูลประกอบบทความจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

พร้อมเปิดประเภทกิจการใหม่ในการส่งเสริม โดยเตรียมมอบสิทธิประโยชน์ให้สูงสุด ดังนี้ 

1. กิจการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) การผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบเซลล์เชื้อเพลิง สถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) 

2. กิจการเกี่ยวกับพลังงานใหม่ เช่น การผลิตไฮโดรเจนจากนํ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น Green Ammonia การผลิตไฮโดรเจนจากไฮโดรคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล และการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอนํ้าจากไฮโดรเจน

3. กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เช่น Novel Food, Organic Food และ อาหารที่มี Health Claim

4. กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น การผลิตอุปกรณ์ซ่อมบำรุงและงานบริการภาคพื้น การผลิตชิ้นส่วน Mechanical / Electronic Parts สำหรับดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศรูปแบบต่างๆ การพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์เกี่ยวกับดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน บริการนำส่งวัตถุสู่อวกาศ (Launching Services) หรือกิจการผลิตระบบควบคุมภารกิจนำส่ง

ทั้งนี้สิ่งที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ แน่นอนว่าต้องกลับไปดูจุดแข็งเดิมของไทยว่าเป็นอย่างไร มีแรงดึงดูดได้หรือไม่ โดยย้อนกลับไปดูจุดแข็งเดิมของไทย ที่มีอยู่เดิมนั่นคือ การมีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้า ประปา ถนน โทรคมนาคม ท่าเรือ สนามบิน และนิคมอุตสาหกรรม 

จุดแข็งต่อมา คือการมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนมีความพร้อม ทั้งวัตถุดิบ และชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ การมีบุคลากรมีคุณภาพ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพ การมีสิทธิประโยชน์แข่งขันได้คอยดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ และสุดท้ายคือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ 

โดยจุดแข็งเดิมที่มีทั้งหมด สามารถนำมาผสมผสานกับจุดแข็งใหม่ที่ไทยกำลังเร่งสร้าง นั่นคือ 1. โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมอนาคตใน EEC 2. มาตรการ LTR , Smart Visa และ ศูนย์ OSS 3. ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4. ความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม และ 5. ความยืดหยุ่นรองรับวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาเห็นตัวอย่างของการบริหารงานภายใต้วิกฤตโควิด-19 แล้ว

ความท้าทายต่อจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาล และองคาพยพ จะขับเคลื่อนการทำงานได้ตามแผนหรือไม่ เพราะถ้าไม่รีบคว้าโอกาสเอาไว้ ต่อไปแม้ไทยจะแต่งตัวให้สวยเช้งวับแค่ไหน ก็ไม่มีชาติมหาอำนาจใดหันมาชายตามองแน่