กางแผน “จีน” อัดฉีดเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคัก มีอะไรบ้าง

06 มี.ค. 2566 | 09:23 น.

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน อ่านแผนปรับทิศทางจีน 2023 มีจุดเน้นใหม่อะไรบ้าง ? : วิเคราะห์ 9 ประเด็นสำคัญจากรายงานต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีน( NPC) อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ !

ในทุกๆ ปี ของการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress : NPC) นายกรัฐมนตรีของจีนจะรายงานผลการทำงานของรัฐบาลและเป้าหมายแผนงานในอนาคต รายงานประจำปีของนายกรัฐมนตรีต่อสภา NPC จึงสะท้อนทิศทางของจีนที่ทั่วโลกจับตามอง โดยเฉพาะในปีนี้ เป็นการปรับทิศทาง หลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศ China’s Reopening และปรับมาใช้นโยบายอยู่กับโควิด

จากการวิเคราะห์รายงานของรัฐบาลจีนต่อ NPC ในปี 2023 แม้ว่าในภาพรวม ยังคงเน้นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางสังคม แต่ก็มีหลายประเด็นที่มีการปรับเป้าหมาย เพื่ออัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ดร.อักษรศรี  พานิชสาส์น

บทความนี้ จะวิเคราะห์และเปรียบเทียบในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะมีด้านใดบ้างที่ปรับเปลี่ยนไปจากแผนเดิมในปี 2022 ที่ผ่านมา ดังนี้

ประเด็นแรก ด้านการจ้างงาน มีการปรับเป้าหมายเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ในเขตเมืองเป็น 12 ล้านตำแหน่ง (จากเดิมปีที่แล้ว ตั้งเป้าการจ้างงานไว้ที่ 11 ล้านตำแหน่ง) โดยเน้นการจ้างงานของคนหนุ่มสาว เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ยังคงมีตัวเลขการว่างงานของคนรุ่นใหม่จีนในช่วงอายุ 16-24 ปี เฉลี่ยสูงถึงเกือบร้อยละ 20 (ตัวอย่างเช่น ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สูงถึงร้อยละ 19.9) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างซบเซาจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ตึงเกินไป

รวมทั้งรัฐบาลจีนตระหนักถึงความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และเยาวชน โดยเฉพาะพลังการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวจีนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวทางการเมืองได้ง่าย ในปี 2022 ที่ผ่านมา จีนมีนักศึกษาจบใหม่ในระดับมหาวิทยาลัย ราว 10.7 ล้านคน ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน รัฐบาลจีนจึงเน้นดูแลกลุ่มนี้เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เป้าหมายอัตราการว่างงานในเมืองที่มีการสำรวจ ในแผนปีนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ราวร้อยละ 5.5

ประเด็นที่สอง ด้านนโยบายการคลัง เพื่ออัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปี 2023 มีการขยายเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณเป็นร้อยละ 3 ต่อ GDP (เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมร้อยละ 2.8 ในปีที่ผ่านมา) เพื่อเน้นอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อสร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมา เช่น นโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม การขอคืนภาษีและการเลื่อนชำระภาษี เป็นต้น

​อย่างไรก็ดี มีการปรับมาเน้น ควบคุมการก่อหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีน โดยในปี 2023 ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการออกพันธบัตรใหม่ของรัฐบาลท้องถิ่นลงเหลือ 3.8 ล้านล้านหยวน (จากเดิม 4.15 ล้านล้านหยวนในปีที่ผ่านมา) สะท้อนการหันมาควบคุมการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เกินตัวจนเป็นสาเหตุแห่งปัญหาหนี้ประชาชาติ

ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาหนี้ประชาชาติของจีนรวมกันอยู่ในระดับสูงเกือบร้อยละ 300 ของ GDP จีน (หนี้สาธารณะ + หนี้ภาคเอกชน + หนี้รัฐบาลท้องถิ่น)​รัฐบาลกลางของจีนจึงต้องการปรับลดการขาดดุลงบประมาณในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงและจัดการ ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นที่ซุกใต้พรมมานาน

​ประเด็นที่สาม  ด้านการลงทุน ปรับจากเดิมที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐ หันมาเน้นกำกับดูแลการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมากขึ้น เพื่อลดการลงทุนภาครัฐในท้องถิ่นที่เกินตัว (ลด G ของรัฐบาลท้องถิ่น)

โดยปรับมาเน้นสนับสนุน การลงทุนภาคเอกชนจีนมากขึ้น (เพิ่ม I ของภาคเอกชน) และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ดึงดูด FDI จากทุนต่างชาติ) สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น โดยประกาศ “ส่งเสริมการก่อสร้างโครงการเชิงสัญลักษณ์ด้วยเงินทุนต่างประเทศ”

ในด้านการลงทุนภาคเอกชน จากรายงานต่อ NPC มีการประกาศจะเน้นปกป้องสิทธิในทรัพย์สินของกิจการเอกชนและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการตามกฎหมาย ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเอกชนและกิจการของเอกชน

ประเด็นที่สี่  การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2023 มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนไว้ราวร้อยละ 5 โดยเน้นกระตุ้นภาคการบริโภคให้มากขึ้น (เพิ่ม C การบริโภคในประเทศ) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนให้มากขึ้น (เพิ่ม I ของภาคเอกชน) โดยในขณะนี้ สัดส่วนภาคการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนจีนต่อ GDP คือร้อย 38 และร้อยละ 43 ตามลำดับ

ที่สำคัญ คือ การเน้นดึงศักยภาพของชนบทจีน เพื่อสร้างกลุ่มผู้บริโภคในชนบทที่มีกำลังซื้อเป็นพลังบริโภคระลอกใหม่ของจีน ภายใต้แผนงานในปีนี้ จึงมีการประกาศส่งเสริม การฟื้นฟูชนบทของจีน อย่างจริงจัง หลังจากที่นโยบายขจัดความยากจนในจีนได้สำเร็จแล้ว จำเป็นต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวจีนในชนบทที่เคยยากไร้เหล่านี้ต่อไป รวมทั้งการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบทที่มีลักษณะเฉพาะ ขยายช่องทางการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่งคั่งของเกษตรกร

นอกจากนี้ มีการส่งสัญญาณในการผ่อนคลายและสนับสนุน ภาคอสังหาริมทรัพย์ มากขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ มีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วนสูงราว 1 ใน 4 ของ GDP จีน จึงเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน

ทั้งนี้ การผ่อนคลายในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่การปล่อยมือทั้งหมด หากแต่ภาครัฐของจีนยังคงเข้าไปกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรเหมือนในอดีตจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไร้การกำกับดูแล และยังคงย้ำว่า “บ้านมีไว้อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร”

ภาครัฐจะเน้นสนับสนุนความต้องการที่อยู่อาศัยและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม แก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ย้ายเข้าเมืองมาใหม่และคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่

​ประเด็นที่ห้า  ด้านเป้าหมายเงินเฟ้อ ในปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นที่ประมาณร้อยละ 3 เพื่อปรับระดับเงินเฟ้อที่เหมาะสมไม่ต่ำเกินไป

ที่ผ่านมา จีนไม่ได้ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อสูงดังเช่นหลายประเทศชั้นนำ (โดยเฉพาะสหรัฐและชาติยุโรปมีเงินเฟ้อพุ่งสูงจนกระทบเศรษฐกิจโลก) ในทางตรงกันข้าม อัตราเงินเฟ้อของจีนค่อนข้างต่ำมาก (ล่าสุด อัตราเติบโตของ CPI อยู่ที่ร้อยละ 2.1ต่อปีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา) สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในหลายด้าน แต่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายและเน้นการเก็บออมมากขึ้น

ดังนั้น การปรับเป้าหมายดัชนีเงินเฟ้อให้สูงขึ้นบ้างในระดับที่เหมาะสม สะท้อนทิศทางรัฐบาลจีนที่จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นนั่นเอง

ประเด็นที่หก  ด้านความมั่นคงทางการทหาร ตั้งเป้าหมายเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นร้อยละ 7.2 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี เพื่ออัดฉีดเพิ่มความเข้มแข็งให้กองทัพจีนด้วยวงเงินงบประมาณสูงถึง 1.55 ล้านล้านหยวน ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในประเด็น Geopolitics ที่ไม่แน่นอน และท่าทีที่แข็งกร้าวระหว่างจีนกับสหรัฐ

ภายใต้แนวทางการทูตนักรบหมาป่า (Wolf Warrior Diplomacy) ของจีนที่เน้นการตอบโต้กับสหรัฐแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และย้ำจุดยืนในประเด็นไต้หวัน การต่อต้านการเรียกร้องเอกราชอย่างเด็ดขาดและส่งเสริมการรวมชาติ ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบอย่างสันติ และผลักดันกระบวนการรวมชาติมาตุภูมิอย่างสันติ

รวมทั้งประเด็นฮ่องกงและมาเก๊า ที่จะเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในฮ่องกงและมาเก๊าต่อไป

ประเด็นที่เจ็ด  ด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและจริงจังในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและเดินหน้าในการพัฒนาเชิงคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในด้านการควบคุมมลพิษ และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดในการใช้พลังงานทั้งหมดของจีนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.8 เป็นมากกว่าร้อยละ 25

​ประเด็นที่แปด  ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในแผนงานปีนี้ รัฐบาลจีนยังคงเน้นผลักดันนโยบายด้านการวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการชั้นสูง เดินหน้าเน้นการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อพึ่งพาตนเองอย่างแข็งแกร่งขึ้น

รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV และพลังงานสะอาด เป็นต้น

นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิทัล จะหันมาเน้นการปรับปรุงระดับการกำกับดูแลให้เป็นมาตรฐาน (จัดระเบียบบิ๊กเทค) และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เน้นประโยชน์ของผู้ใช้เป็นสำคัญ

​ประเด็นสุดท้าย มิติด้านสังคมและอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นการสานต่อสิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ด้านการศึกษา เน้นส่งเสริมคุณภาพและการพัฒนาที่สมดุลของการศึกษาภาคบังคับและการบูรณาการเขตเมืองและชนบท

สำหรับด้านการสาธารณสุขและการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสและการพัฒนายาใหม่ ๆ สร้างหลักประกันและสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับชาวจีนต่อไป ส่งเสริมทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ขยายเพิ่มขึ้นและมีความสมดุลในแต่ละภูมิภาค

รวมทั้งการเดินหน้านโยบายประกันสังคม เช่น การเสริมสร้างระบบประกันผู้สูงวัย ปรับปรุงระบบนโยบายการสงเคราะห์บุตร เป็นต้น

โดยสรุป จากการวิเคราะห์แผนทิศทางจีนจากที่รายงานต่อ NPC ในปี 2023 นี้ ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจีนจะต้องหันมา เน้นอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอึมครึมซึมเซาจากมาตรการคุมเข้มของภาครัฐภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ จนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนสร้างความอึดอัดใจให้คนจีนหลายกลุ่ม จนถึงขั้นมีการออกมาประท้วงรัฐบาลจีนในปีที่ผ่านมา และในที่สุด เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2022 ทางการจีนพลิกเกมยกเลิกมาตรการที่เข้มงวดต่าง ๆ โดยทันทีแบบไม่ทันตั้งตัว

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนชุดใหม่ ภายใต้ (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีของจีนคนใหม่ หลี่เฉียง ซึ่งคาดว่า จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีนี้ ย่อมมี แรงกดดันและความคาดหวังสูง ทำให้ต้องเร่งอัดฉีดสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่โดดเด่นให้ทะลุเป้าหมายเศรษฐกิจจีนเติบโตได้เกินกว่าร้อยละ 5 (แม้ว่าจะตั้งเป้าหมายทางการไว้ราวร้อยละ 5 ซึ่งไม่สูงเกินไป เพื่อว่าจะได้อ้างผลงานที่ดีเกินเป้า หากทำได้จริงในที่สุด)

ประธานาธิบดีสี  จิ้นผิง

ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งหมดของทิศทางแผนการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในปี 2023 นี้ ยังคงสอดคล้องกับแนวนโยบายใหญ่ระดับชาติของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง คือ โมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation Model) ที่เน้นการยืนบนขาตัวเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี นั่นคือ ลดการพึ่งพาโลกแต่จะดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน ผ่านการเพิ่มพลังการบริโภคระลอกใหม่ของชาวจีนและขยายตลาดภายในขนาดใหญ่ของจีนนั่นเอง

ทิศทางจีนปี 2023 มีจุดเน้นอะไรบ้าง อ่านได้ที่นี่