ส่งซิกรับมือ รัสเซีย-ยูเครนปี 2 ส่อรุนแรง พลังงาน-เงินเฟ้อจ่อพุ่งรอบใหม่

06 มี.ค. 2566 | 01:46 น.

สงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้าปีที่ 2 ส่อเพิ่มดีกรีความรุนแรง สหรัฐฯ-ชาติยุโรป เปิดหน้าสนับสนุนส่งรถถังและอาวุธสนับสนุนยูเครนแบบเต็มพิกัด ขณะรัสเซียขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้แบบ "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" สถานการณ์ที่ยังมีความสุ่มเสี่ยงนี้จะกระทบไทยมากน้อยเพียงใดนั้น

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มีความน่าเป็นห่วง เพราะดูแล้วยังไม่มีทีท่าจะสงบลงในเร็ววัน นอกจากจะไม่สงบลงแล้วยังดูเหมือนว่าสงครามอาจจะยกระดับความเข้มข้นหรือความรุนแรงมากขึ้น

สัญญาณแรก คือ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมารัสเซียได้มีการปรับแผนทหารโดยรับทหารใหม่เพิ่มอีก 5 แสนนาย และมีการเคลื่อนจะเพิ่มกำลังพลไปที่ชายแดนผ่านเบลารุสเพิ่มขึ้นเมื่อครบ 1 ปีของสงคราม ซึ่งจะเป็นบริบทใหม่ในปีที่ 2  หลายสำนักข่าวของชาติตะวันตกระบุว่ารัสเซียอาจจะบุกใหญ่อีกครั้งเมื่อผ่านช่วงฤดูหนาวอันใกล้นี้

สัญญาณที่ 2 ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯได้ลงขันกันในการส่งรถถังจำนวนมาก ทั้งจากสหรัฐฯ เยอรมนี และชาติอื่น ๆ ไปสบทบช่วยยูเครน รวมทั้งเครื่องยิงอาวุธพิสัยไกล และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าสงครามคงจะปะทุใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2566 หากสถานการ์เป็นไปในทิศทางข้างต้น โดยแนวโน้มอาจรุนแรงขึ้น หรือขยายวงกว้างขึ้น เพราะผู้นำรัสเซียก็ออกมาประกาศล่าสุดว่า “รัสเซียแพ้ไม่ได้” เมื่อชาติตะวันตกส่งอาวุธไปช่วยยูเครนอย่างนี้ ถึงจุดหนึ่งรัสเซียอาจจะต้องตัดสินใจในการที่จะต้องใช้ “นิวเคลียร์” เวลานี้รัสเซียก็ประกาศหยุดความร่วมมือในสนธิสัญญาการควบคุมนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ หรือ New Start Treaty

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ตรงนี้เป็นสัญญาณว่ารัสเซียมีความพร้อมแล้ว ถ้ามีความจำเป็นจะใช้นิวเคลียร์ ซึ่งถ้ายิงไปที่ยูเครนอาจจะแผ่รังสีเข้าไปในยุโรปหลายประเทศ ก็อาจจะทำให้เหตุการณ์บานปลายได้”

สำหรับ 1 ปีที่ผ่านมา  ในทางตรงคือผลกระทบด้านการค้าไทย-รัสเซีย ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะการค้าไทย-รัสเซียที่ผ่านมามีจำนวนไม่มาก (ปี 2565 มีมูลค่าการค้า ระหว่างกัน1,855 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)โดยที่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า

อย่างไรก็ดีช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากสหรัฐฯและชาติสมาชิกนาโต้แซงชั่นรัสเซียในหลายรูปแบบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ โดยตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (ระบบการชำระเงิน / โอนเงินระหว่างประเทศ) ส่งผลผลกระทบต่อการค้าไทย-รัสเซียด้วย โดยช่วงแรกของสงคราม และรัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ทำให้ผู้ส่งออกของไทยที่ทำการค้ากับรัสเซียไม่สามารถเปิด แอล/ ซี และไม่สามารถชำระเงินผ่านธนาคารเดิมได้

ดังนั้นต้องไปหาช่องทางอื่น ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ก็เริ่มหาช่องทางเจอ โดยผ่านประเทศที่เป็นกลางในตะวันออกกลางบ้าง หรือผ่านจีนบ้าง การค้าขายเปลี่ยนจากสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสกุลหยวนของจีนบ้าง สิ่งเหล่านี้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มภาระเวลาในการส่งออก เนื่องจากระบบโลจิสติกส์ทุกอย่างถูกแซงชั่น สายการเดินเรือ สายการบินไม่สามารถบินตรงไปได้

ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางในการส่งสินค้า และการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียก็อาจต้องผ่านประเทศที่ 3 ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  แต่ก็จำเป็นต้องทำสำหรับในสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังพอมีกำไรเพียงพอและคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายเหล่านั้น  แต่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่มีกำไรน้อยก็หยุดไป เพราะฉะนั้นทำให้ตัวเลขการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย ในปี 2565 เทียบกับปีก่อนหน้าที่จะมีโควิดลดลงไปมากกว่า 50%

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโลกในปีนี้ ซึ่งแม้ทางตรงไทยได้รับผลกระทบไม่สูงมากในแง่การค้าที่ไทยกับรัสเซียมีการค้าระหว่างกันไม่มากนัก แต่ทางอ้อมที่เราอาจจะได้รับผลกระทบคือราคาน้ำมันที่แม้เวลานี้จะปรับตัวลดลง แต่หากมีการรบกันที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน ราคาก๊าซพุ่งขึ้นไปอีก ตรงนี้อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจจะเกิด Supply chain Shortage หรือการขาดแคลนซัพพลาย หรือซัพพลายเชน ดิสรัปชั่น การขนส่งสินค้าต่าง ๆ อาจจะเริ่มไม่สะดวกขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้ต้องจับตา ปีนี้เป็นอีกปีที่มีความสำคัญสำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนพอสมควร”

ส่งซิกรับมือ รัสเซีย-ยูเครนปี 2 ส่อรุนแรง พลังงาน-เงินเฟ้อจ่อพุ่งรอบใหม่

  • ประเทศไทยจะตั้งรับอย่างไร

ไทยมีปัญหาด้านพลังงาน เพราะมีการใช้น้ำมันมากกว่าวันละ 9 แสนบาร์เรลที่ต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ เราต้องหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เพราะแต่เดิมไทยมีการซื้อน้ำมันล่วงหน้าจากแหล่งประจำ ๆ ในราคาสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพิ่มเติม ที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าจากหลายแหล่งมากขึ้น แต่ต้องบาลานซ์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ส่วนที่ 2 ต้องหาเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า หรือใช้พลังงานทดแทนที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เช่น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โซลาร์ ที่เรามีศักยภาพที่พอจะช่วยได้ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการใช้พลังงาน โดยการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยบาลานซ์พอร์ตให้ดี สิ่งเหล่านี้ภาครัฐได้มีบทเรียนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแล้ว ปีนี้น่าจะใช้บทเรียนเหล่านี้ในการปิดช่องว่างเหล่านั้น โดยพัฒนาให้ดีขึ้น

สำหรับในส่วนของภาคเอกชนเองก็ต้องบอกกับประชาชน และภาคเอกชนด้วยกันเองว่า การร่วมกันประหยัดพลังงาน การหามาตรการประหยัดพลังงานถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมัน และค่าพลังงานจะเหวี่ยงตัวขึ้นไป ถ้าสงครามเกิดความตึงเครียดหรือการรบที่รุนแรงมากขึ้น

  • ข้อแนะนำภาคเอกชน

จากนี้ไปความท้าทายของมวลมนุษยชาติคือ “ความเสี่ยง” ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การบริหารความเสี่ยง ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะความเสี่ยงที่พูดถึง นอกเหนือจากเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) หรือความขัดแย้งระดับภูมิภาคอาจจะมีความบานปลาย ไม่ใช่เฉพาะรัสเซีย-ยูเครน ยังต้องดูคู่ต่อไป เช่นช่องแคบไต้หวัน-จีน เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้จะเป็นอย่างไร รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ซีเรีย ปาเลสไตน์ จะเป็นอย่างไร

“จากที่รัสเซียยังจมปลักอยู่กับการบในยูเครน ไม่สามารถที่จะไปคุ้มครองตะวันออกลางที่เป็นพันธมิตรเช่นซีเรียได้ โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลได้ส่งฝูงบินไปถล่มกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ในแต่ละภูมิภาคมีความสุ่มเสี่ยง และสามารถที่จะปะทุได้ตลอดเวลา”

รวมถึงล่าสุดมีการเผชิญหน้าระหว่างกองเรือของจีนกับฟิลิปปินส์ในข้อพิพาทแถบทะเลจีนใต้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความเสี่ยงรุนแรงที่จะต้องระมัดระวัง และต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่โลกกำลังแบ่งขั้วอำนาจอย่างชัดเจนที่บีบให้ทั่วโลกเลือกว่าจะอยู่กับสหรัฐฯและชาติตะวันตก หรือจะอยู่กับฝ่ายหนึ่ง ที่นำโดยจีน รัสเซีย อิหร่าน ซึ่งจากที่ทุกประเทศต่างเป็นลูกค้าไทยทั้งสิ้น

ดังนั้นจุดยืนและการเลือกเป็นสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวัง ด้านการต่างประเทศของไทยต้องมีความแหลมคม และมีความยืดหยุ่นที่จะต้องรู้วิธีในการบริหารจัดการระบบการทูต รวมทั้งการค้าขายของไทยก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเช่นกัน