กนอ. ชี้ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ช่วง 1 เร็วกว่าแผน 1.01%

21 ก.พ. 2566 | 23:46 น.

กนอ. ชี้ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ช่วง 1 เร็วกว่าแผน 1.01% ระบุช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน กำหนดให้ยื่นข้อเสนอ 6 มิ.ย. 66 คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ล่าสุดได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและงานออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว มีความคืบหน้า 38.53% เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 1.10%

ขณะที่ปัจจุบันงานก่อสร้างเขื่อนกันทรายสามารถลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% และเริ่มทดสอบการขุดลอกไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มงานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ของโครงการฯไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้าง "ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด" ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท 

โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 เป็นการร่วมทุนระหว่าง กนอ.กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ (พื้นที่หลังท่าและหน้าท่าพร้อมใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่) 

สำหรับการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) เปิดขายซองประมูลเมื่อวันที่ 8 พ.ย.-8 ธ.ค.2565 โดยเอกชนจะยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 มิ.ย.2566 ขณะเดียวกันได้มีการจ้างทีมศึกษาโครงการช่วงที่ 2 อีกครั้ง เพื่อพิจารณาค่าร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ พร้อมทั้งเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากมีการเปลี่ยนแปลง 

กนอ. ชี้ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ช่วง 1 เร็วกว่าแผน  1.01%

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) อาจล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมบ้าง แต่ในภาพรวมโครงการระยะที่ 3 ทั้งหมดจะยังคงแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2569 ถึงต้นปี 2570

“โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ทั้งช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2 ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงของการก่อสร้างและดำเนินโครงการฯ ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนมากขึ้น"

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนผ่านมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามรายงาน EHIA เมื่อ 7 เม.ย. 2564 เพื่อเยียวยากลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านที่มีพื้นที่จับสัตว์น้ำประมาณ 2,200 ไร่ บริเวณพื้นที่ถมทะเลด้วย
 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีก 19 ล้านตันต่อปี ใน 30 ปีข้างหน้า 

รวมถึงรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี มีผู้ประกอบการ จำนวน 12 ราย ได้แก่ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย