เอฟทีเอ"ไทย-อียู" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

14 ก.พ. 2566 | 07:29 น.

ครม.ไฟเขียว เดินหน้า FTA ไทย-สหภาพยุโรป 27 ประเทศ เดินหน้าเจรจาระหว่างกัน มั่นใจได้แต้มต่อแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปมี 27 ประเทศ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะรีบแจ้งให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการกระทรวงพาณิชย์ของอียูหรือสหภาพยุโรปรับทราบ เพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เมื่อเสร็จสิ้นจะประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเดินหน้าเจรจา FTA ระหว่างกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ ถ้าเพิ่ม FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอีกหนึ่งฉบับ จะเป็น 15 ฉบับและเพิ่มจำนวนประเทศเป็น 45 ประเทศ ถ้าอนาคตสามารถทำเพิ่มได้อีก 1-2 ฉบับ จะสามารถแซงหน้าเวียดนามได้เรื่องแต้มต่อทางการค้ากับประเทศต่างๆ และการเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มการส่งออกต่อไปในอนาคต FTA ฉบับนี้สำคัญอย่างยิ่งรอมานานเป็น 10 ปี

"วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกือบก้าวสุดท้ายเพราะคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมอบให้เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ตั้งเป้าร่วมกันตอนไปบรัสเซลส์ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งนี้จะเร่งประกาศนับหนึ่งภายในไตรมาสแรกของปีนี้ สหภาพยุโรปมี FTA กับอาเซียนเพียง 2 ประเทศคือเวียดนามและสิงคโปร์ ถ้าสำเร็จเราจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน"

เอฟทีเอ\"ไทย-อียู\" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%

เอฟทีเอ\"ไทย-อียู\" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น

เอฟทีเอ\"ไทย-อียู\" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมาย ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 และถ้าประสบความสำเร็จไทยจะมีตลาดการค้าที่เราได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ และจะเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย รวมถึงเป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป และกรอบการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมประกาศหรือออกแถลงการณ์เปิดการเจรจาจัดทำ FTA ไทย - สหภาพยุโรป   โดยเป็นการใช้หลักการเดียวกับการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย - สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และกรอบเจรจา FTA อาเซียน - แคนาดา ที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบ

ทั้งนี้ร่างกรอบการเจรจาฯ มีเนื้อหาครอบคลุม 20  หัวข้อ เช่น การค้าสินค้า การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์/การค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ประโยชน์ ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อม ระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

เอฟทีเอ\"ไทย-อียู\" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

สำหรับประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่า ไทยจะได้รับจาก FTA  ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย ในกลุ่มประเทศสมาชิก สหภาพยุโรป ช่วยปรับโครงสร้างภาคการผลิต และบริการของไทยไปสู่การผลิต และบริการใหม่ที่มีศักยภาพ ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น  รวมทั้งยังเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ  เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม

เอฟทีเอ\"ไทย-อียู\" ครม.ไฟเขียวเดินหน้าเจรจา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA ไทย - สหภาพยุโรป เป็นผลความสำเร็จที่สืบเนื่องจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ    ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 ที่ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อเปิดการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการได้โดยเร็วที่สุด และยังเป็นนโยบายสำคัญ เนื่องจากสหภาพยุโรปถือเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก  27 ประเทศที่มีศักยภาพ มีประชากรเกือบ 500  ล้านคน มี GDP อยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของไทย  ซึ่งผลการวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การจัดทำ FTA จะทำให้ GDP ของไทย ขยายตัว 1.28% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.83% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81%  รวมทั้งทำให้การกระจายรายได้ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น   ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ