พาณิชย์เข้ม 8 สินค้าเฝ้าระวังส่งออก มีผลบังคับใช้ก.พ.นี้

13 ก.พ. 2566 | 03:50 น.

พาณิชย์เข้ม 8 สินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปสหรัฐ-ยุโรป มีผลบังคับใช้ก.พ.นี้ สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย เพื่อป้องกันการแอบอ้าง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 สินค้าที่ส่งออกจากไทยถูกสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสงสัยว่าอาจมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาสวมถิ่นกำเนิดไทยแล้วส่งออกไปยังประเทศปลายทางดังกล่าว กรมจึงได้ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง ซึ่งจากเดิมมีจำนวน 42 รายการ

พาณิชย์เข้ม 8 สินค้าเฝ้าระวังส่งออก มีผลบังคับใช้ก.พ.นี้

 

เป็นจำนวน 48 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้มีการตรวจสอบรวมทั้งปรับปรุงพิกัดศุลกากรของสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าวให้เป็นฉบับปี 2022 (HS 2022) ด้วย

 

 

โดยสินค้าที่เพิ่มเติม จำนวน 8 รายการ จำแนกเป็นสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวน 6 รายการ ได้แก่  พื้นไม้อัด  ผ้าแคนวาส เหล็กลวดคาร์บอน  ท่อเหล็กคาร์บอน ตะปูเหล็ก และ ลวดเย็บกระดาษ และสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหภาพยุโรป จำนวน 2 รายการ ได้แก่  เหล็กลวดคาร์บอน และ  อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด

พาณิชย์เข้ม 8 สินค้าเฝ้าระวังส่งออก มีผลบังคับใช้ก.พ.นี้

ทั้งนี้ รายการสินค้าที่นำออกจากรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหภาพยุโรป จำนวน 1 รายการ ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า และสินค้าที่จัดกลุ่มรวมกัน สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯจำนวน 1 รายการ ได้แก่ ฟูกที่นอน ทั้งนี้ บัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ออก Form CO ทั่วไป อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย คต. ได้จัดส่งบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ ทั้ง 48 รายการ ให้แก่ทั้งสองหน่วยงานทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form CO ทั่วไป ต่อไปทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายการสินค้าเฝ้าระวังที่ต้องยื่นตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าทั้ง 48 รายการ ได้ที่ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ”

ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมา กรมได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกกรม สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด (สินค้าเฝ้าระวัง) ซึ่งมีจำนวน 42 รายการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอ Form CO ทั่วไป โดยในปีที่ผ่านมา (สิงหาคม-ธันวาคม 2565) กรมได้ดำเนินการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า และจัดส่งเอกสารผลการตรวจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้น 593 ฉบับ แบ่งเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดไทย จำนวน 584 ฉบับ ได้แก่ ส่วนประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ จักรยาน มอเตอร์กระแสสลับอื่นๆ และจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิดไทยของผู้ประกอบการบางราย มีจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ รถจักรยานสองล้อ จักรยานไฟฟ้า ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ล้ออัลลอย และดุมล้อ เป็นต้น เนื่องจากการผลิตไม่เป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศปลายทาง