จีนแซงญี่ปุ่นลงทุนไทย ลุ้นปี 66 แรงไม่ตก อาเซียนฟัดเดือดดึงปักฐาน

04 ก.พ. 2566 | 07:56 น.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เผยตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของไทยปี 2565 ปีล่าสุดมีจำนวนทั้งสิ้น 2,119 โครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 41 โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด

เจาะลึกลงไปในรายละเอียดมีข้อมูลที่น่าสนใจ ในจำนวนดังกล่าวเป็นการขอรับการส่งเสริมโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) จำนวนทั้งสิ้น 1,070 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 433,971 ล้านบาท ในแง่จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2564

น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะจากข้อมูลในปี 2565  ในกลุ่ม FDI หรือนักลงทุนต่างชาติ  5 อันดับแรกที่มาขอรับการส่งเสริม อันดับเปลี่ยนไป โดยในแง่มูลค่าเงินลงทุน จีนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาอยู่อันดับ 1 มีมูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท (158 โครงการ), อันดับ 2 ญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุน 50,767 ล้านบาท (293 โครงการ), อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา มูลค่าเงินลงทุน 50,296 ล้านบาท (33 โครงการ), อันดับ 4 ไต้หวัน มูลค่าเงินลงทุน 45,215 ล้านบาท (68 โครงการ) และอันดับ 5 สิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 44,286 ล้านบาท (178 โครงการ)

ขณะที่ในปี 2564 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 178 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท, จีน 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท, สิงคโปร์ 96 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 41 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 29,519 ล้านบาท และไต้หวัน 39 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 21,804 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญต่อทิศทางการลงทุนของประเทศ โดยข้อมูลของบีโอไอ ระบุ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 เป็นคำขอรับการส่งเสริมที่อยู่ในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษรวมทั้งสิ้น 1,028 โครงการ (+38%) มูลค่าเงินลงทุน 468,668 ล้านบาท (+40%)

 

จีนแซงญี่ปุ่นลงทุนไทย  ลุ้นปี 66 แรงไม่ตก อาเซียนฟัดเดือดดึงปักฐาน

 

แบ่งเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย รวม 794 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 384,350 ล้านบาท ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (174 โครงการ มูลค่า 129,480 ล้านบาท), ยานยนต์และชิ้นส่วน (171 โครงการ มูลค่า 105,370 ล้านบาท),การเกษตรและแปรรูปอาหาร (305 โครงการ มูลค่า 81,370 ล้านบาท),ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (131 โครงการ มูลค่า 59,760 ล้านบาท) และการท่องเที่ยว (13 โครงการ มูลค่า 8,370 ล้านบาท)

ส่วนอีก 7 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (New S-Curve) รวม 234 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 84,340 ล้านบาท ประกอบด้วย ดิจิทัล (130 โครงการ มูลค่า 49,460 ล้านบาท), การแพทย์ (67 โครงการ มูลค่า 23,100 ล้านบาท), เทคโนโลยีชีวภาพ (17 โครงการ มูลค่า 8,420 ล้านบาท), ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (10 โครงการ มูลค่า 1,790 ล้านบาท), อากาศยาน (5 โครงการ มูลค่า 690 ล้านบาท),พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา (3 โครงการ มูลค่า 600 ล้านบาท) และการป้องกันประเทศ (2 โครงการ มูลค่า 280 ล้านบาท)

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนส่งและโลจิสติกส์
 
โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายกิจการ เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV, PHEV และ Hybrid มูลค่ารวมกว่า 53,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น บีวายดี และฮอริษอน พลัส) กิจการ Data Center มูลค่ารวมกว่า 42,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS)) และกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท
 
ส่วนพื้นที่เป้าหมายในการขอรับการส่งเสริม สัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีการขอการรับส่งเสริมจำนวน 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 โดยมูลค่าเงินลงทุนกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น
 

ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นตรงกันว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้นักลงทุนจีนแซงหน้าญี่ปุ่น(ในแง่มูลค่าการลงทุน)ในปีที่ผ่านมาเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่สหรัฐฯยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตในจีนเพิ่มหลายพันรายการ เพื่อทำลายความแข็งแกร่งของจีนที่เป็นโรงงานของโลก และได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมหาศาล รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ-จีน กรณีช่องแคบไต้หวัน กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สหรัฐฯและจีนยืนอยู่คนละฝั่ง รวมถึงความพยายามของสหรัฐฯที่จะสกัดจีนไม่ให้ขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีอันดับ 1 ของโลก

โดยสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้สนับสนุนธุรกิจของสหรัฐฯ และต่างชาติย้ายฐานออกจากจีนให้ไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ  และดำเนินนโยบายการค้าที่เข้มงวดกับจีน

ปัจจัยหลัก ๆ ข้างต้นบีบให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมของจีนต้องขยายฐาน /หรือย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตส่งออกแทนฐานผลิตในจีน ซึ่งไทยถือเป็นตัวเลือกหนึ่งของจีน น่าจับตาว่าในปีนี้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากจีนและการลงทุนจริงจากจีนจะยังแรงต่อเนื่องหรือไม่ เพราะคู่แข่งในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย ต่างก็แข่งขันดึงการลงทุนจากจีนอย่างเต็มที่เช่นกัน