‘อาเซียน’เร่งขับเคลื่อนยกระดับห่วงโซ่มูลค่าโลกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

29 ม.ค. 2566 | 00:41 น.

‘อาเซียน’ ประชุม CoW ครั้งที่ 14 หารือแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจให้สอดรับสามเสาประชาคมอาเซียน  23 สาขา เน้น 4 ภารกิจเร่งทำในปีนี้

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 14  ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจให้สอดประสานกันในระดับเสาประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา (ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) และการทำงานภายในเสาเศรษฐกิจในระดับองค์กรรายสาขาทั้งหมด 23 สาขา

 

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

โดยในปี 2566 อาเซียนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องร่วมกันดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม (4IR) ครั้งที่ 4 โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล ธรรมาภิบาลทางเทคโนโลยีและความปลอดภัยทางไซเบอร์

และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อสังคม การดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน ซึ่งระยะแรกจะนำร่องด้วยการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรม 3 สาขา ได้แก่ พลังงาน ขนส่ง และการเกษตร การดำเนินงานตาม

 

‘อาเซียน’เร่งขับเคลื่อนยกระดับห่วงโซ่มูลค่าโลกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่นการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกตลาดเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้มีการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาเซียนในห่วงโซ่มูลค่าโลก

‘อาเซียน’เร่งขับเคลื่อนยกระดับห่วงโซ่มูลค่าโลกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ทบทวนแผนงานและวางแนวทางการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนผ่านการปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับประสานมาตรฐานข้ามพรมแดน การลดมาตรการที่มิใช่ภาษี การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล การบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน และการสร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ MSMEs และพัฒนากรอบการช่วยเหลืออาเซียนในการแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อวางแนวทางการพัฒนานโยบายด้านเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปรับกฎระเบียบ การพัฒนาทุนมนุษย์ และเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอีกด้วย