"การท่าเรือ" ปลุก 3 เส้นทาง รุกตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ"

25 ม.ค. 2566 | 12:48 น.

"การท่าเรือ" กางแผนจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ นำร่อง 3 เส้นทางในประเทศ ดึงเอกชนร่วมทุนบริหาร เตรียมชงคมนาคมไฟเขียวภายในเดือน มี.ค.นี้

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ใน การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ปัจจุบัน กทท. ได้จ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติฯ เบื้องต้นตามแผนจะเร่งรัดศึกษาโครงการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษาฯเสนอต่อคณะกรรมการกทท.กระทรวงคมนาคม เห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2566 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าภายในปี 2566 จะได้ข้อสรุปรูปแบบการการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ

"การท่าเรือ" ปลุก 3 เส้นทาง รุกตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ"

ขณะเดียวกันคณะที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย

  1. รูปแบบการจัดตั้งและรูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติ
  2. เส้นทางการเดินเรือที่มีความเป็นไปได้ภายในประเทศทั้ง 9 เส้นทาง
  3. แผนการตลาด การเงิน และการลงทุน ที่มีความเหมาะสม
  4. ความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน

แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยโดยผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติควรเน้นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในสัดส่วนไม่เกิน 25 % จะทำให้มีความเหมาะสมและคล่องตัวในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในด้านการตัดสินใจที่รวดเร็ว เป็นการดึงจุดเด่นของภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางชายฝั่งของไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติด้านอุตสาหกรรมทางน้ำและโลจิสติกส์ทางเรือให้ความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจสายการเดินเรือแห่งชาติจำนวนหลายราย

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางการเดินเรือภายในประเทศพบว่า จาก 9 เส้นทางที่มีความเหมาะสม เบื้องต้นกทท.จะนำร่อง 3 เส้นทางการเดินเรือก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนและไม่ทับซ้อนกับเส้นทางที่มีเอกชนดำเนินการอยู่ก่อนหน้า โดยมีผลตอบแทนทางการลงทุนอยู่ที่ 7.71 % ประกอบด้วย

  1. เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง) - ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)
  2. เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม) - ท่าเรือแหลมฉบัง(ชลบุรี)
  3. เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) - ท่าเรือสุราษฎร์ธานี

"การท่าเรือ" ปลุก 3 เส้นทาง รุกตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ"

ทั้งนี้ กทท.ได้ตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการเดินเรือประจำเส้นทางในเส้นทางชายฝั่งของไทยภายในปีแรกของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยในปัจจุบันภาพรวมการขนส่งทางน้ำภายในประเทศมีประมาณ 10 ล้าน TEUSต่อปี คาดหวังว่า เมื่อเปิดให้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติแล้ว จะมีประมาณ 10% หรือ 1 ล้าน TEUSต่อปี และผลักดันภาพรวมการขนส่งทางน้ำขึ้นเป็น 20 ล้าน TEUSต่อปี ในระยะ 5-10 ปี

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือไม่ประจำเส้นทางในเส้นทางระหว่างประเทศได้ภายใน 4 ปีแรกของการจัดตั้งด้วย

ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อเข้ามาลงทุนในสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 (5) ซึ่งตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง พ.ร.บ. ก่อนส่งให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งต่อไป โดยสาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อให้ กทท.สามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการบริหารทรัพย์สินของ กทท.ด้วย

"การท่าเรือ" ปลุก 3 เส้นทาง รุกตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ"

ด้านเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้น ได้พิจารณารูปแบบการให้บริการเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1(First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดว่าส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ อยู่ที่ 2% คิดเป็น1.2 ล้านตัน ซึ่งสามารถรองรับขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท เช่น

  1. เรือขนาด Handy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ
  2. เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ให้บริการปีละ 5 รอบ

"การท่าเรือ" ปลุก 3 เส้นทาง รุกตั้ง "สายการเดินเรือแห่งชาติ"

ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทย รวมปริมาณส่งออก 20.0 ล้านตัน

นอกจากนี้ ในส่วนของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติร้อยละ 2 ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUS ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี