ครม.ทุ่ม 6,000 ล้าน ผุดนิคมอุตสาหกรรมอีอีซี-ลำพูน 

24 ม.ค. 2566 | 09:30 น.

ครม.อนุมัติลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และ จ.ลำพูน มูลค่าลงทุน 2 โครงการรวมกว่า 6,000 ล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

24 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการลงทุนจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดลำพูน รวม 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,385 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้และเงินสะสมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด

โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม มีเนื้อที่ประมาณ 1,482 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์

กลุ่มเป้าหมายของโครงการ

เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่น คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 13,920 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทศในสาขาต่าง ๆ มากถึง 1,542.34 ล้านบาท

2.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ลำพูน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,160 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้และเงินสะสมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.มะเขือแจ้ และ ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า มีเนื้อที่ประมาณ 653 ไร่ และที่ดินถนนทางเข้าประมาณ 25 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร และ Bio Technology

กลุ่มเป้าหมายของโครงการ

เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นเช่นกัน คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทสในสาขาต่าง ๆ มากถึง 277.85 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ควรมีแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถซื้อที่ดินจากเอกชนได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งอาจพิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่

โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่กับการพัฒนาขยายพื้นที่ในนิคมอตุสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เดิมได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป