รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”

19 ม.ค. 2566 | 19:00 น.

รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”หลังอินโดฯขึ้นทะเบียนGI  การันตีคุณภาพข้าวช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประกาศรับจดทะเบียน GI ข้าวไทยเพิ่มอีก 2 รายการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงและ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งจะช่วยขยายตลาดการส่งออกของไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

 

รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”

 

โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเดินหน้าผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพ ให้ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า GI เกษตรและอาหาร เช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ในจีน กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”

 

ทั้งนี้การส่งเสริมการจดทะเบียนสินค้า GI ในต่างประเทศเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้า GI ไทยได้รับความคุ้มครองในตลาดส่งออกสำคัญ พร้อมผลักดันมูลค่าการตลาดให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้า GI ไทยได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศ รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน

รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”

 

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีลักษณะเด่นคือ เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงหรือสีชมพู ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตมากกว่า 8,000 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 104 ล้านบาท

 

รู้จัก “ข้าวสังข์หยดพัททลุง-หอมมะลิทุ่งกุลาฯ”

 

ส่วน ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีลักษณะเด่นคือ เมล็ดข้าวยาวเรียวและไม่มีหางข้าว เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตกว่า 24,500 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 266 ล้านบาท ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว GI ไทยทั้ง 2 รายการ และสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป