จีนเปิดประเทศ"พาณิชย์"ชี้ส่งออกตลาดจีนกลับมาสดใสแน่

10 ม.ค. 2566 | 06:21 น.

จีนเปิดประเทศ"พาณิชย์"ชี้ส่งออกตลาดจีนกลับมาสดใส  สนค.วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนภายหลังผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์เป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าการลงทุนไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี (นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสในปี 2563) เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง จีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่สอง (12% ของการส่งออกรวม) รองจากสหรัฐอเมริกา

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

โดยเป็นตลาดส่งออกหลักของผลไม้ไทย และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ ในขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง (สัดส่วน23.3% ของการนำเข้ารวม) โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวเพียง 3.1% โดยหดตัวจากภาคการส่งออก (-6.5%) เป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี แต่ขยายตัวจากการนำเข้า (+8.6%) สินค้าส่งออกที่หดตัวใน

จีนเปิดประเทศ"พาณิชย์"ชี้ส่งออกตลาดจีนกลับมาสดใสแน่

 

ตลาดจีนที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น  ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ปัจจัยหลักมาจากการกำหนดนโยบาย โดยดำเนินนโยบายมาตรการ Zero-COVID คุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในโลกที่ใช้นโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยในปีนี้ มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในหลายพื้นที่ของจีน ทำให้ต้องล็อคดาวน์เมืองเศรษฐกิจสำคัญบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันยังคงคุมเข้มการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในสินค้าและคนที่ผ่านเข้าไปยังจีน ส่งผลให้การผลิตและการค้าของจีนชะงักงัน ประกอบกับอุปสงค์ภายนอกอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันถึง 5 เดือน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

จีนเปิดประเทศ"พาณิชย์"ชี้ส่งออกตลาดจีนกลับมาสดใสแน่

 

อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากกว่าการเร่งการเจริญเติบโตในเชิงปริมาณ โดยพึ่งพาตนเองมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภายใต้กลยุทธ์ Dual Circulation ทำให้จีนลดการนำเข้าลง แต่ยังเปิดรับการค้ากับต่างประเทศอยู่ รวมถึงผลพวงจากการขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ภาคการก่อสร้างที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15-30 ของเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบ ไม่เพียงเท่านั้นปัจจัยภายนอกจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี จากกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 ของสหรัฐฯ ที่กีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง กดดันต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงทำให้ความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างชาติลดลง และมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในปีที่ผ่านมา

การที่คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ประกาศ ลดระดับโรค Covid-19 จาก “โรคติดเชื้อกลุ่ม B ที่บริหารจัดการในระดับโรคติดเชื้อกลุ่ม A” เป็น “โรคติดเชื้อกลุ่ม B ที่บริหารจัดการในระดับโรคติดเชื้อกลุ่ม B” ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยได้ยกเลิกมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ และยกเลิกมาตรการกักกันและบริหารจัดการสินค้าและบุคคลที่ผ่านเข้ามาในพรมแดนภายใต้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพและการกักกันบริเวณพรมแดน

“ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออกไปยังตลาดจีนในปี 2566 ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมา ส่งผลให้กิจกรรมการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนภาครัฐ ฟื้นตัวอย่างมากเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก สร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนให้กลับคืน แต่อาจจะยังมีความไม่แน่นอน ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากจนระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหวจนต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้ง  และมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้จีนหันมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการจัดการหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาและหนี้ภาคครัวเรือนที่ได้รับผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินและการคลังของจีนอาจจะทำได้อย่างจำกัดขึ้น”

อย่างไรก็ตามจีนยังคงเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพ จากการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นจะช่วยเร่งให้การส่งออกไปประเทศจีนกลับมามีทิศทางที่สดใสอีกครั้ง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในของจีนที่กลับมาดำเนินการใกล้เข้าสู่ระดับปกติ ด้วยประชากรจีนที่มีจำนวนมากเมื่อการบริโภคและการผลิตฟื้นตัวจะผลักดันการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงล็อคดาวน์ ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบ “เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ RCEP” ทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยในราคาถูก ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงินยังคงสูง สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวจะกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะผลไม้ ที่จะผ่านด่านทางบกได้อย่างสะดวกขึ้น  รวมทั้งความพร้อมในการตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าของด่านรถไฟโม่ฮาน ที่จะช่วยให้ต้นทุนผู้ส่งออกต่ำลง รวมทั้งสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น ที่เติบโตตามการเปิดเมืองก็จะกลับมา ในขณะที่สินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสินค้าสำหรับป้องกันรักษาโรคก็จะได้อานิสงส์จากการติดเชื้อโควิดที่จะเพิ่มขึ้นในจีนเช่นกัน ขณะที่สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบหากจีนต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้ง อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ไม้ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากพึ่งพาตลาดจีนอย่างมาก (ส่วนแบ่งในตลาดจีนมากกว่า 90%) ดังนั้นในระยะกลางผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักอาจจะได้รับผลกระทบหากจีนเลือกนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากคู่แข่งหรือผลิตเองทดแทนตามนโยบายพึ่งพาตนเองที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรวางแผนกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดศักยภาพอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดจนการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม เพื่อรับมือความเสี่ยงของตลาดจีนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่