รฟท.อนุมัติเชื่อมราง  ดึงลงทุนนิคมฯอุดรธานี ฉลุย

19 ธ.ค. 2565 | 09:38 น.

การพัฒนาพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีคืบหน้า 90% เปิดขายพื้นที่แล้ว นักลงทุนทั้งยุโรป จีน ญี่ปุ่น ตกลงซื้อที่ เตรียมลุยขึ้นโรงงานแล้ว แถมข่าวดี รฟท.ตั้งงบสร้างรางเชื่อมพื้นที่โครงการปีงบประมาณ 2566 นี้ ลั่นพร้อมหนุน SMEs ไทยเติบโตไปด้วยกัน 

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล   กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เปิดเผยว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมกรีนอุดร ภายใต้การกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และโครงการฯได้รับสิทธิ์ประโยชน์พิเศษการลงทุนให้กับผู้ประกอบการลงทุนในโครงการของ BOI โซน 3 ตามประเภทกิจการฯ ขณะนี้ได้พัฒนาโครงการมีความก้าวหน้าแล้วกว่า 90% การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในกลางปี 2566 นี้ตามแผนแน่นอน โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่โครงการออกเป็น 2 เฟส 

 

เฟสแรกพื้นที่  1,325 ไร่ เป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไปและศูนย์กระจายสินค้า เฟส 2 พื้นที่ 845 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ของ ICD/CY/Free Zone โดยแบ่งเป็นพื้นที่ Free Zone 220 ไร่  ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ เมื่อมีการก่อสร้างรางรถไฟ จากพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) เชื่อมต่อกับพื้นที่ของโครงการฯ ส่วนพื้นที่ ICD ระยะที่ 3 จำนวน 115 ไร่ และพื้นที่ CY เฟส 1 จำนวน 30 ไร่ และเฟส 2 จำนวน 50 ไร่ ซึ่งอยู่ในขั้นพัฒนาพื้นที่ โดยจะต้องจัดส่งแผนและแบบแปลนพื้นที่ ให้กรมศุลกากรพิจารณาอนุมัติดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า และอีก 80 ไร่ จะเป็นพื้นที่สำหรับอื่นๆ ที่จำเป็น

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล   กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด

 

รฟท.อนุมัติเชื่อมราง  ดึงลงทุนนิคมฯอุดรธานี ฉลุย

นายพิสิษฎ์ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของนิคมมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมโยงทั้งในประเทศ และกับเพื่อนบ้าน โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนตอนใต้ได้ โดยใช้เส้นทาง R12, R9, R8 และ R3A ผ่านสะพานข้ามแม่นํ้าโขง เชียงของ-แขวงห้วยทราย อยู่ในเส้นทางรถไฟ โครงการรถไฟจีน-ลาว- ไทย ซึ่งในช่วงของโครงการรถไฟ จีน-ลาว ได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2564 

 

ในส่วนของ สปป.ลาว ได้ต่อรางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ มาถึงสถานีท่านาแล้ง ซึ่งมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งกับรางขนาด 1 เมตร ของระบบรถไฟไทย ซึ่งสร้างเชื่อมต่อจากสถานีหนองคายถึงสถานีท่านาแล้งอยู่ก่อนแล้ว เป็นการอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจากย่านขนถ่ายสถานีนาทา หนองคาย ซึ่งอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) 

รฟท.อนุมัติเชื่อมราง  ดึงลงทุนนิคมฯอุดรธานี ฉลุย

รฟท.อนุมัติเชื่อมราง  ดึงลงทุนนิคมฯอุดรธานี ฉลุย

โดยที่โครงการนิคมฯอุดรธานี มีศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์โลจิสติกส์ ที่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย  ห่างจากสถานีหนองตะไก้ 2.8 กิโลเมตร ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติให้ใช้พื้นที่ของรฟท.ในการก่อสร้างรางรถไฟให้เชื่อมต่อแล้ว โดยรฟท. จะทำการก่อสร้างรางรถไฟในพื้นที่ของรฟท.เอง ใช้งบประมาณ 76 ล้าน โดยได้รับความเห็นชอบจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ ส่วนในพื้นที่โครงการทางโครงการจะจัดการก่อสร้างรางรถไฟไปเชื่อมต่อเอง คาดใช้งบประมาณ จำนวน 36 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมการขนส่งทางรางจากพื้นที่โครงการฯเข้าโครงข่ายระบบรางรฟท.ได้ทันที 

 

นายพิสิษฎ์ เผยอีกว่า ขณะนี้ได้เปิดขายพื้นที่โครงการในเฟสแรก ได้ประมาณ 5%   โดยมีนักลงทุนจากเดนมาร์กจีน โดยผ่านนักธุรกิจจีนในประเทศไทย เพราะทางการจีนยังควบคุมเชื้อโควิค-19 อยู่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนที่เคยเจรจาเบื้องต้นเอาไว้แล้ว  ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนในอุตสาห กรรม SMEs ได้ตกลงซื้อ-ขายพื้นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้แล้วก็มีนักลงทุนทั้งไทยและของญี่ปุ่น ที่ย้ายฐานไปเวียดนาม ได้มีการเจรจาพูดคุยกันในรายละเอียดเบื้องต้นอีกจำนวนหนึ่ง 

 

ส่วนการพัฒนากำลังคนรองรับการลงทุนนั้น นิคมฯอุดรธานีมุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่นมาแต่ต้น ได้หารือกับ รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หอ การค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 

รฟท.อนุมัติเชื่อมราง  ดึงลงทุนนิคมฯอุดรธานี ฉลุย

โดยตกลงร่วมมือจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนสาขา โลจิสติกส์ โดยเฉพาะในส่วนของแวย์เฮาส์ ในรูปแบบการศึกษาทวิภาคี คือนำนักศึกษาเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำงานจริงในนิคมฯอุดรธานี เมื่อนักศึกษาจบแล้ว ก็สามารถจะทำงานในหน้าที่ดังกล่าวต่อได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปฝึกงานอีก 

 

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีหลักสูตรการเรียนในสาขาโลจิสติกส์ ซึ่งเกี่ยวกับระบบขนส่งทุกแขนงงาน จึงเกี่ยวข้องกับระบบงานของโรงงานต่างๆ ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในและต่างประเทศมาก 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,845 วันที่ 18-21 ธันวาคม พ.ศ.2565