"ศ.ดร.นฤมล" แนะเร่งฟื้น ศก. 3 ด้านส่งออกเกษตร รัฐลงทุน ท่องเที่ยว

18 ธ.ค. 2565 | 07:01 น.

"ศ.ดร.นฤมล" แนะเร่งฟื้น ศก. 3 ด้านส่งออกเกษตร รัฐลงทุน ท่องเที่ยว หลังเห็นตัวเลข สศช. และ ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณบวกของภาคเอกชน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการทรวงแรงงานโพสต์ Facebook ส่วนตัวระบุถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ ) หรือ สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้น พ.ย.65 เริ่มเห็นสัญญาณบวกของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ และปรับตัวสูงขึ้นจาก+3.3% ในปี 64 เป็น +5.1% การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก จาก +0.3% ในปี 64 เป็น +6.1% ในปี 65 

 

ภาคท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวดีเกินคาดจากที่คาดว่าปี 65 จะมีนักท่องเที่ยว 9.5 ล้านคน ล่าสุดคาดว่าถึงสิ้นปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวรวม 10.5 ล้านคนปี 66 และ 67 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 22 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน เมื่อข้อจำกัดด้านเที่ยวบินและการเดินทางระหว่างประเทศ คลี่คลายมากขึ้น
 

ตัวเลขการส่งออกทั้งปียังขยายตัว และชะลอลงกว่าที่คาดและน้อยกว่าการขยายตัวเมื่อปี 64 ที่ขยายตัวสูงถึง +18.8% ปี 65 นี้น่าจะขยายตัวได้เต็มที่แค่ 7.4% เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ในปี 66 และ 67 ก็คาดว่าน่าจะขยายตัวไม่มากจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กลุ่มสินค้ายานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่สินค้าเกษตรยังสามารถไปได้ดีและจะเป็นพระเอกของภาคการส่งออกไทย

 

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการทรวงแรงงาน

แต่ปรากฏว่าการลงทุนของภาครัฐกลับหดตัวจาก +3.8% ในปี 64 กลายเป็น -1.5% ในปี 65 การอุปโภคของภาครัฐก็หดตัวเช่นกันจาก +3.2% ในปี 64 กลายเป็น -0.2% ในปี 65 
 

ทั้งนี้ เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยควรเร่งทำ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

 

  • เร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพิ่ม และเตรียมแผนแรงงานรองรับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพราะจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ยังเหลืออยู่ในการเร่งเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

  • เร่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อรักษาการขยายตัวของภาคการส่งออก 

 

  • เร่งเครื่องการลงทุนภาครัฐ ต้องออกจากกรอบแนวคิดเพียงแค่การกู้เพื่อมาลงทุนในงบประมาณแผ่นดินประจำปี เพราะจะติดข้อจำกัดเพดานหนี้สาธารณะ ต้องใช้กลไกการร่วมทุนนะหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนหรือ PPP ให้มากกว่าที่ทำอยู่ และใช้ศักยภาพของตลาดทุนไทยด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการพัฒนาประเทศ