SPRC ซื้อปั๊มคาลเท็กซ์จากเชฟรอนกว่า 5.5 พันล้าน ลุยธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน

07 ธ.ค. 2565 | 08:05 น.

บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ทุ่ม 5,562 ล้านบาท รุกธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เข้าซื้อกิจการปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ จากเชฟรอน พร้อมถือหุ้น 9.91% ใน Thappline

 

บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 4/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ได้มีมติอนุมัติการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 31 ม.ค. 2566 โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม 20 ธ.ค. 2565 ทั้งนี้ ซึ่งการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมดังกล่าวประกอบด้วยธุรกรรม ดังต่อไปนี้

 

  • 1.การเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ของบริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) จำกัด จาก Chevron Asia Pacific Holdings Limited ("CAPHL") และ CT Nominee Holdings (I) LLC ("CTN1") และ (3) CT Nominee Holdings (II) LLC ("CTN2") โดยบริษัท เป้าหมายเป็นบริษัทที่จัดตั้งในประเทศไทยซึ่งจะทำการเข้าซื้อธุรกิจจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปัจจุบันดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ("CTL") และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจาก CTL

 

 

  • 2.การเข้าซื้อหุ้นสามัญจำนวน 2,877,500 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 5,528,430 หุ้น ของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ("Thappline") คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.91 ของจำนวน หุ้นทั้งหมดจาก CAPHL โดย Thappline ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดจำหน่ายน้ำมันทางระบบท่อส่ง

 

  • 3.การเข้าลงทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นและการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทจำกัด ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายไทยสองบริษัท ("บริษัทใหม่") โดยหนึ่งในบริษัทใหม่ดังกล่าวจะเข้าซื้อที่ดินจำนวนทั้งหมด 19 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จากบริษัท สตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ("SHC") ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้นบริษัทมีเป้าหมายและหุ้น Thappline จะเรียกรวมกันว่า "การเข้าซื้อหุ้น" โดยเมื่อรวมการ ลงทุนในบริษัทใหม่จะเรียกรวมกันว่า "ธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม"

 

ทั้งนี้ในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมครั้งนี้ ได้แก่ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน Caltex 427 สถานี แบ่งเป็น สถานีบริการน้ำมันแบบผู้ค้าปลีกเป็นเจ้าของและดำเนินการ 403 แห่ง และสถานีบริการน้ำมันแบบบริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโดยผู้ค้าปลีก 24 แห่ง และ หุ้น 16 ล้านหุ้น หรือ 2.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BAFS

 

 

มูลค่าทั้งหมดของธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจะเท่ากับผลรวมของ (1) เงินจำนวน 90.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 3,212.4 ล้านบาท (2) มูลค่าของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิตามจริงของธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จะดำเนินการโดยบริษัทเป้าหมาย ณ วันที่ธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นเสร็จสิ้น (Closing Date) ทั้งนี้เพื่อแสดงตัวอย่างประกอบการพิจารณาเงินทุนหมุนเวียนสุทธิของธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่าเท่ากับ 2,350.1 ล้านบาท (หรือเท่ากับ 65.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

ในกรณีนี้หากมูลค่าของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิของธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ณ วันที่ธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นเสร็จสิ้น (Closing Date) มีจำนวนเท่าเดิม 2 มูลค่าของธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจะเท่ากับ 155.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเท่ากับ 5,562.5 ล้านบาท)

 

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดกับบริษัทฯ ธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ดังนี้

 

1.การครอบครองและรักษาฐานลูกค้าปลายทางในธุรกิจโรงกลั่นของบริษัท โดยบริษัทประกอบธุรกิจโรงกลั้นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยในปัจจุบันลูกค้ารายที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท คือ กลุ่มบริษัท Chevron ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43.2 ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ดังนั้นการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจึงถือเป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจในแนวดิ่ง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถครอบครองและรักษาฐานลูกค้าปลายทางในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ และลดการพึ่งพารายได้จากลูกค้าที่เป็นกลุ่มบริษัท Chevron ลง

 

2.การขยายธุรกิจและการบูรณาการในธุรกิจปลายน้ำ การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจปลายน้ำดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจปิโตรเลียมปลายน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจและเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน ธุรกิจบริการเกี่ยวกับรถยนต์ และธุรกิจบริการเชิงพาณิชย์อื่นๆ

 

นอกจากนี้การขยายธุรกิจดังกล่าวยังทำให้ บริษัทฯ สามารถได้ประโยชน์จากการประสานศักยภาพการดำเนินงานจากการรวมธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบริหาร การจัดเก็บเชื้อเพลิง และการแบ่งปันต้นทุนในธุรกิจต่างๆ 3.การรับรู้ผลของรายได้และกำไรจากธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ภายหลังจากการเข้าลงทุนในธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมดังกล่าว บริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และธุรกิจบริการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทันที.

           
ด้านนายโรเบิร์ต โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การเข้าลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในครั้งนี้ เป็นไปตามพันธกิจของ SPRC เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนในเวลาที่เหมาะสม โดยการทำธุรกรรมดังกล่าวจะเพิ่มความหลากหลายและสร้างมูลค่าให้แก่ SPRC

 

เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่คุณค่าที่จะทำให้ SPRC สามารถให้บริการลูกค้าในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้นผ่านการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพของบริษัทฯ เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งกับการลงทุนของ SPRC ในครั้งนี้ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของเรา"

 

SPRC มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอนาคตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น และให้ความมั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจเพื่อลดคาร์บอน ในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติของผู้ถือหุ้นในช่วงต้นปี 2566