"ซินเจนทา ซีดส์" ทุ่มกว่า 330 ล.ขยายโรงงานผลิตใหญ่สุดในอาเซียน

04 ธ.ค. 2565 | 06:52 น.

"ซินเจนทา ซีดส์" ทุ่มกว่า 330 ล้านบาทขยายโรงงานผลิตใหญ่สุดในอาเซียน ลุยผลิตเมล็ดข้าวโพดลูกผสมคุณภาพสูง ดันไทยศูนย์กลางส่งออก

นายจัสติน วอล์ฟ ประธานกรรมการบริหารธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บริษัท ซินเจนทา สำนักงานใหญ่ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการลงทุนเพิ่มอีกว่า 330 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดข้าวโพดลูกผสมที่มีคุณภาพสูงและตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด 

 

ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเป้าที่จะลงทุนระยะยาวในภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยมีความพร้อมที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในทุกปีอีกหลายล้านบาท เพื่อทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในไทย และช่วยสร้างระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

นายพิชญา รุจิรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซินเจนทา ซีดส์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า โรงงานในส่วนต่อขยายนี้เพิ่มศักยภาพกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 10 ตันต่อชั่วโมง จากเดิมที่ทำได้เพียง 3 ตันต่อชั่วโมง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนากระบวนการผลิตที่นำเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมันนีและประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมสำหรับอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอาเซียน

 

ซินเจนทา ซีดส์ ทุ่มกว่า 330 ล.ขยายโรงงานผลิตใหญ่สุดในอาเซียน

นอกจากนี้ โรงงานส่วนต่อขยายใหม่ของซินเจนทา ซีดส์ ยังควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ มีการใช้หุ่นยนต์แขนกลในการจัดเรียงสินค้าเพิ่มความปลอดภัยลดการใช้แรงงานหนักและความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการทำงานผ่านระบบเครือข่ายไร้สายได้ และยังมีระบบกำจัดฝุ่นแยกอิสระในเครื่องจักรแต่ละส่วน เพื่อป้องกันมลภาวะทางอากาศระหว่างการปฏิบัติการ จึงเป็นโรงงานที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

นายพิชญา กล่าวอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยบริษัทซินเจนทา ซีดส์ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
 

ประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึงปีละ 8-9 ล้านตัน แต่ปัจจุบันกลับมีกำลังการผลิตในประเทศเพียง 5-6 ล้านตัน ยังขาดปริมาณที่ต้องการอีกถึง 2-3 ล้านตัน ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังขาดทั้งในแง่ปริมาณผลผลิต คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ลักษณะของพันธุ์อาทิเช่น การทนทานต่อศัตรูพืชและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศไทยลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม

 

ในส่วนของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง จะมีการตรวจสอบ DNA ของข้าวโพดว่ามีลักษณะของพันธุ์ถูกต้องตามขบวนการปรับปรุงพันธุ์หรือไม่ มีการสุ่มตรวจสอบเมล็ดเพื่อทดสอบอัตราการงอกและความแข็งแรงของเมล็ด ซึ่งเมล็ดพันธุ์ของซินเจนทามีอัตราการงอกสูงไม่ต่ำกว่า 95% (ตามกฏหมายระบุให้เกิน 76% เท่านั้น) และมีความชื้นของเมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 12%  เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการคัดแยกเมล็ดให้ได้ความบริสุทธิ์ทางกายภาพและมีขนาดที่เป็นมาตรฐาน