สภาอุตฯส่งสัญญาณ รับมือ Perfect Storm เศรษฐกิจไทยปี 66 บนความเสี่ยง

26 พ.ย. 2565 | 01:20 น.

ปี 2566 ที่กำลังย่างกรายเข้ามา ถือเป็นอีกปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย แม้จะมีบางด้านที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลกับปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ที่ยังต้องออกแรงอีกมากนับจากนี้ไป

สภาอุตฯส่งสัญญาณ รับมือ Perfect Storm เศรษฐกิจไทยปี 66 บนความเสี่ยง

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทิศทางความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง และมีอะไรเป็นปัจจัยบวก-ลบในปี 2566

 

  • ความท้าทายรุมรอบด้าน

 นายเกรียงไกร มองว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของประเทศมหาอำนาจ ที่นำไปสู่ข้อพิพาท รวมถึงสงครามสร้างผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เปรียบเสมือนพายุ Perfect Storm ถาโถมใส่ผู้ประกอบการตั้งแต่ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น 5-8% ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น 17% ค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะส่งผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ

 

 อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบ และพลังงานของไทยเพิ่มสูงขึ้น แม้ภาคการส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทก็ตาม

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต่างดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ในส่วนของราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ยังคงเป็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าพลังงานที่สามารถแข่งขันได้ และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

 

อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ถือเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั้งจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ที่ถูกนำมาบังคับใช้ ในส่วนของประเทศไทยเองก็จะต้องเตรียมตัวเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ณ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

 

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมต้องหันกลับมาปรับปรุงกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและโอกาสของอุตสาหกรรมในอนาคต

 

นายเกรียงไกร ยังยืนยันอีกว่าโลกในปัจจุบันจะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว คำว่า VUCA World ถือเป็น Next normal ของโลกในยุคนี้ ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวและบริหารงานภายใต้ VUCA ที่สถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำยังไงให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปข้างหน้า พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไป

 

แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เป็นตัวเร่งทำให้โลกเกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ หรือ De-Globalization ขึ้น ส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตเข้าสู่ยุค "Friend-shoring" เกิดการจำกัดเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานไว้เฉพาะพันธมิตร (allies) และประเทศที่เป็นมิตร (friendly) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกในอดีตอาจเกิดการแยกตัวออกจากกัน จะเห็นได้จากการกระจายย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในหลายอุตสาหกรรมกลับประเทศหรือย้ายไปประเทศอื่น

 

ดังนั้นอุตสาหกรรมจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานในการผลิต หรือ Supply chain security โดยมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Supply Chain Shortage รวมทั้งพยายามผลักดันให้ภาครัฐเร่งดึงดูดการลงทุนในประเทศให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

 

นอกจากนี้การเข้าสู่ยุค Digital Disruption ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีผลทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไป บางอุตสาหกรรมต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และจำเป็นต้องหยุดกิจการเนื่องจากไม่สามารถปรับตัว หรือ Transform อุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากการ Disrupt ของเทคโนโลยีได้อย่างเช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

 

สภาอุตฯส่งสัญญาณ รับมือ Perfect Storm เศรษฐกิจไทยปี 66 บนความเสี่ยง

 

  • แข่งดึงลงทุนยังเหนื่อย

ด้านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)  ต้องยอมรับว่าข้อได้เปรียบของไทยเหลือน้อยลงทุกที ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจำนวนแรงงานลดน้อยลง ค่าแรงของไทยก็ไม่ได้ถูกอีกต่อไป ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็สูงกว่าประเทศคู่แข่ง

 

“หากเทียบกับเวียดนามที่ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟไทยเวลานี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ดังนั้นแค่เปิดเดินเครื่องจักรในการผลิตไทยก็เสียเปรียบเวียดนามแล้ว”

 

ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนในอนาคตไทยจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระให้แก่นักลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาระบบการศึกษาและกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ มาตรการส่งเสริมการลงทุนก็จะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และหาเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ในการดึงดูดการลงทุน เช่น มาตรการสนับสนุนด้านการเงิน มาตรการจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในประเทศ เป็นต้น

 

 “การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต”

 

  • ตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจปี 66

ขณะที่ตัวช่วยสำคัญในการปลุกเศรษฐกิจไทยปี 2566 ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ควบคู่กับการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทย

 

รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค ก็จะเป็นอีกกลไกสำคัญในการกระจายความเจริญไปยังแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ ที่ภาครัฐได้มีการลงทุนพัฒนาไปแล้ว คาดจะมีหลายโครงการสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2566 ก็จะเป็นตัวช่วยที่จะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมได้ 

 

  • 4 เรื่องใหม่ทำธุรกิจยากขึ้น

อย่างไรก็ดีแม้ปี 2566 จะมีโอกาสดีขึ้นในด้านท่องเที่ยวและการส่งออก ท่ามกลางข้อกังวลรอบด้าน แต่อีกด้านหนึ่งมีอีก 4 เรื่องใหม่ที่ทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจยากขึ้น  และต้องปรับตัวรับมือให้ได้คือ   1.การดำเนินธุรกิจต้องนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีมาช่วย มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ในการวางแผนบริหารจัดการ

 

2.เงื่อนไขการขายสินค้าและรูปแบบการต่อรอง รวมถึงเครดิตการจ่ายเงินผู้ประกอบการต้องหาแนวทางให้ลูกหนี้การค้าชำระค่าสินค้าและบริการตามกำหนดการเดิม เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ใช้หมุนเวียน 3.จากวิกฤติความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% สวนทางกับการปรับราคาขายสินค้าและบริการในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่า 10%

 

 4.การแข่งขันที่แปลกใหม่ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนช่องทางการขายตอบสนองกับยุค New Normal ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนา Omni Channel หรือการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง มีการเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยผสมผสานช่องทางการสื่อสารทั้งออนไลน์ และการขายหน้าร้าน (ออฟไลน์) พร้อมกับการกระจายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย