เปิด 2 โปรเจ็กต์ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ‘แลนด์มาร์ก’ใหม่ ริมโขง

25 พ.ย. 2565 | 02:42 น.

ทล.ผ่าโปรเจ็กต์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซุ่มหารือสปป.ลาว สร้างสะพานข้ามแม่นํ้าโขง เพิ่ม 2 แห่ง เชื่อมประตูการค้าการลงทุน 2 ประเทศ หนุนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนในอนาคต

ที่ผ่านมาไทยและ สปป.ลาว มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน ครอบคลุมในทุกมิติ เห็นได้จากการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่นํ้าโขง ทั้ง 4 แห่ง ที่เปิดให้บริการแล้ว ประกอบด้วย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เชื่อมสู่ภาคเหนือของ สปป.ลาว, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) เชื่อมสู่ภาคใต้ของ สปป.ลาว ไปยังท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม

 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-แขวงคำม่วน) เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไปสู่ภาคกลางของ สปป.ลาว และภาคกลางของเวียดนามและจีนตอนใต้ และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เชื่อมต่อจาก จ.เชียงราย ไปทางเส้นทาง R3A หลวงนํ้าทา-บ่อเต็น สปป.ลาว-สิบสองปันนา-คุนหมิง ประเทศจีน

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบันทล.มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม (FS) และออกแบบแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะร่วมหารือกับ สปป.ลาว เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันในการก่อสร้าง รวมทั้งสรุปงบประมาณของโครงการฯ และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบประมาณวงเงินโครงการที่ 4,765 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 4,365 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 400 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 มีความยาว 1.02 กิโลเมตร (กม.) และทางลาดลงจากตัวสะพาน (Approach Viaduct) ความยาวฝั่งไทย 517 ม. ฝั่งลาว 70 ม., ถนนฝั่งไทย ระยะทาง 4.325 กิโลเมตร (กม.) ถนนฝั่งลาว 17.509 กิโลเมตร (กม.), อาคารด่าน (BCF) โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 จะเชื่อม ทล.2112 ในอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังเส้นทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ในเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวันของ สปป.ลาว อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ทล.มีแผนที่จะก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่นํ้าโขง แห่งใหม่เชื่อมหนองคาย-เวียง จันทน์ เบื้องต้นได้ลงนามจัดจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด หรือ AEC เป็นกลุ่มที่ปรึกษาในการศึกษารูปแบบของสะพาน ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศึกษาและคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่นํ้าแห่งใหม่ ความเป็นไปได้ของรูปแบบต่างๆของโครงการฯ วงเงินจ้างที่ปรึกษาโครงการมูลค่า 40 ล้านบาทหลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปรึกษาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย (ไทย, สปป.ลาว, จีน) เพื่อสอดคล้องกับการก่อ สร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย

 

สำหรับสะพานข้ามแม่นํ้า โขงแห่งใหม่หนองคาย-เวียงจันทน์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) โดยสะพานแห่งใหม่จะรองรับรถไฟขนาดทาง 1.435 เมตร (Standard Gauge) และขนาดทาง 1 เมตร (Meter Gauge) รวมถึงจะมีการศึกษาเกี่ยวกับการรองรับการขนส่งทางรถยนต์ด้วย

 

รายงานข่าวจากทล.กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้วางศิลาฤกษ์โครง การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมีนายกทั้งฝั่งไทยและสปป.ลาว ทำพิธีเปิดร่วมกัน สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,653 ล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,500 ล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,152ล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 57% (ณ เดือนก.ย. 65)

 

 ฝั่งไทยได้แบ่งก่อสร้างออกเป็น 3 ตอนดังนี้ ตอน 1 งานถนนฝั่งไทย มีที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม. 0+000-9+400 ระยะทาง 9.400 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 831 ล้านบาท เริ่มสัญญา 30 มิ.ย. 63 สิ้นสุด 16 ธ.ค. 65 บริษัท บัญชากิจจำกัด เป็นผู้รับจ้าง ผลงานคืบหน้า 71% ส่วนตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 ระยะทาง 2.683 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 883 ล้านบาท เริ่มสัญญา 25 ก.ย. 63 สิ้นสุด 13 มี.ค. 66 บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัดเป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 64%

เปิด 2 โปรเจ็กต์ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ‘แลนด์มาร์ก’ใหม่ ริมโขง

ขณะที่ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่นํ้าโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+ 032.930 ค่างาน 786 ล้านบาท เริ่มสัญญา 24 พ.ย. 63 สิ้นสุด 8 พ.ย. 66 บริษัทนภาก่อสร้างจำกัดเป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 32% ด้านฝั่งลาวแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน วงเงินรวม 1,152 ล้านบาท ได้แก่ ตอน 1 งานสะพานข้ามแม่นํ้าโขง วงเงิน 379 ล้านบาท คืบหน้า 43% และ ตอน 2 งานอาคารด่านพรมแดน วงเงิน 773 ล้านบาท คืบหน้า 64% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 67

 

 โครงการนี้มีระยะทาง 16.34 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทยยาว 13.033 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.307 กม. แนวเส้นทาง เริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไคสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่นํ้าโขง 200 เมตร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร

 

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการฯแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งพื้นที่ จ.บึงกาฬ และ แขวงบอลิคำไซ ให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญในการ ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการ ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ