"คีรี" จี้ ภาครัฐ เร่งสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม

01 พ.ย. 2565 | 11:21 น.

"คีรี" บี้ ภาครัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยว แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหนี้ท่วม 4 หมื่นล้านบาท ยันไม่หยุดเดินรถหวั่นกระทบประชาชนเดินทาง ขณะที่ประมูลสายสีส้มทำประเทศชาติเสียหาย หวั่นรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้านบาท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องการลงทุนและการขนส่งระบบรางต่างๆ ร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการธุรกิจรถไฟฟ้า ราว 30 ปี โดยบริษัทเป็นผู้ลงทุนงานโยธาและงานระบบทั้งหมด แต่ในช่วงนั้นยังพบว่ามีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก เพราะเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับพื้นที่ในกรุงเทพฯได้ ส่งผลให้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความล่าช้า

 

 

 

 "หากไม่มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ครั้งนั้นเชื่อว่าโครงการฯคงเป็นเพียงแค่ระบบขนส่งมวลชนรองเท่านั้น เพราะมีระยะทางเพียง 13 กม. แต่ในปัจจุบันกลายเป็นระบบขนส่งทางรางที่มีมาตรฐานตามสากลแล้ว"

 

"คีรี" จี้ ภาครัฐ  เร่งสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม

 

นายคีรี กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางภาครัฐเป็นผู้ลงทุนงานโยธาราว 70% โดยให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานในการการเดินรถและบำรุงรักษาระบบ ราว 30% ต่างจากบีทีเอสที่เป็นผู้ดำเนินการลงทุนทั้งระบบรถไฟฟ้า ทำให้ค่าโดยสารแตกต่างกัน

 

 

 

"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ให้กับบริษัทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ส่งผลให้ความเจริญในการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าหลายเส้นทางมีความล่าช้า เพียงเพราะบางองค์กรไม่เข้าใจธุรกิจนี้มากพอ"

นายคีรี กล่าวต่อว่า การดำเนินการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของผู้ว่ากทม. ควรมีการตัดสินใจได้แล้ว เพราะที่ผ่านมานายกฯได้เป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการตามมาตรา 44 ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ทางบริษัทขอความกรุณาให้ภาครัฐและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ควรเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง

 

 

 

 "สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน คือไม่หยุดเดินรถ เพราะหากหยุดเดินรถความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นกทม.หรือนักการเมืองของประเทศต้องดำเนินการได้แล้ว อย่าอ้างในสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือพยายามไม่เข้าใจ เพราะจะทำให้ปัญหาล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐมีมูลหนี้ที่ต้องชำระกับบริษัทราว 40,000 ล้านบาท เรื่องนี้ต้องคิดได้แล้วว่าใครเป็นผู้เสียหาย เราเชื่อว่าประชาชนที่เสียภาษีเป็นผู้เสียหาย"

 

 

 

ส่วนปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างชำระนั้น ปัจจุบันศาลปกครองมีคำสั่งให้กทม.ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถแก่บริษัท ซึ่งการทำสัญญาร่วมกันควรชำระหนี้ตามสัญญาที่กำหนด หากไม่พร้อมชำระหนี้ก็ควรเจรจาหารือร่วมกันได้ แต่ไม่ควรเมินปัญหาในเรื่องนี้ เพราะเอกชนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกวัน

 

 

 

"ในกรณีที่จะมีการยุบสภาและเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวยืดเยื้อนั้น เบื้องต้นเอกชนจะต้องศึกษาในเรื่องนี้เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือถ้าใครทำไม่ถูก มันจะติดตัวแน่นอน"

นายคีรี กล่าวต่อว่า ด้านการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มองว่า หากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการล้มประมูลโครงการ ภาครัฐจะชดเชยงบประมาณในโครงการเพียง 9,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นแต่การประมูลครั้งล่าสุดในปัจจุบันกลับพบว่าภาครัฐต้องชดเชยงบประมาณในโครงการถึง 76,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างห่างกันถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลควรศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้

 

 

 

 "ภาครัฐควรพิจารณาในการประมูลด้วย หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าควรจะเป็นผู้ชนะ แต่กลายเป็นว่าผู้ชนะการประมูลในครั้งล่าสุดกลับทำให้ภาครัฐต้องชดเชยงบประมาณถึง 76,000 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการล่าช้าถึง 2 ปี เราสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน"

 

 

 

 นอกจากนี้ที่ผ่านการสัมมนากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบว่ารฟม. ไม่มีตัวแทนในการมีส่วนร่วมเพื่อชี้แจงการประมูลของโครงการฯ เชื่อว่ามีเหตุผลที่ตอบไม่ได้ โดยเรื่องนี้จะต้องผ่านกระบวนการเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.) และผู้ที่มีอำนาจเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

 

 

 "หากพูดถึงปัญหาการจัดการระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทยเรามองว่าระบบรถไฟฟ้ายังไม่ดีพอเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ดีกว่านี้สำหรับประชาน ทั้งนี้ค่าโดยสารต้องถูกลงหากภาครัฐมีการสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้ค่าโดยสารในราคาถูก แต่อย่าให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องค่าโดยสาร เพราะเอกชนเขาก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่แล้ว"