“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน

31 ต.ค. 2565 | 08:09 น.

“รฟม.” ซาวด์เสียงประชาชน สร้างแทรมเชียงใหม่ 9.2 พันล้านบาท แนะใช้ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เล็งชงครม.ไฟเขียว ม.ค. 67 จ่อเปิดประมูล PPP ดึงเอกชนร่วมทุน 30 ปี ภายในเดือนส.ค.67 เริ่มก่อสร้างก.ย.68 เปิดให้บริการเดือนธ.ค.71

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 31 ต.ค.65 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)  โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ รฟม. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ 

 

“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน


นายวุฒิชัย  พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ในรูปแบบของรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง มีมูลค่าการลงทุนรวม 9,255 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,508 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 2,724 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,223 ล้านบาท ค่าขบวนรถ 2,217 ล้านบาท  ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง 227 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 356 ล้านบาท 
 

นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว เบื้องต้นทางบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อมูลและสรุปรายงานการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากการศึกษาความเหมาะสมออกแบบของโครงการฯ รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายในเดือนธ.ค. 65 โดยจะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถภายในเดือนม.ค.66-ม.ค.67 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ภายในเดือนม.ค. 67 หลังจากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในรูปแบบ Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ภายในเดือนส.ค.67- ส.ค.68 รวมทั้งจะดำเนินการสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในเดือนก.พ. 68 - มี.ค. 71 และเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนก.ย. 68 ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการเดือนธ.ค.71

“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน

 

 

 ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่ารูปแบบในรูปแบบของรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง เป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนค่างานก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและค่าดำเนินการ รวมทั้งค่าเวนคืนที่ดินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการก่อสร้างในรูปแบบอื่นๆ

 

“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน

 

สำหรับระบบรถรางไฟฟ้า ล้อยาง (Tire Tram) เป็นรถรางไฟฟ้า ประเภท Tram มีลักษณะขบวนรถด้านหน้า 2.40-2.65เมตร ความยาวขบวนรถ 32-35 เมตร ความจุผู้โดยสาร 204 คน ความเร็วอยู่ที่ 70 กม.ต่อชั่วโมง มีระบบอาณัติสัญญาณ โดยใช้การขับรูปแบบ Manual และมีการบูรณาการร่วมกับสัญญาณไฟจราจร ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะวิ่งบนถนนด้วยล้อยาง มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นรถรางไฟฟ้าที่มีรางประคอง (Guide Rail) บังคับตลอดเส้นทาง ต้องก่อสร้างรางนำทางบนผิวทาง ใช้ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าเหนือศีรษะ ปัจจุบันผู้ผลิตยังไม่ได้พัฒนาเป็นระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าจาก Battery ประเภทที่ 2 เป็นรถรางไฟฟ้าที่ใช้รางเสมือน (Virtual Guide) ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

ส่วนรูปแบบการคิดอัตราค่าโดยสารสำหรับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ –แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) สามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

 

1.การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (Distance-based Fare) โดยคิดตามระยะทางเดินทางจริง อัตราค่าโดยสารอยู่ที่14-30 บาท 

 

2.การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (Distance-based Fare) โดยคิดตามจำนวนสถานีแบบขั้นบันได กรณีที่ผู้โดยสารที่เดินทาง  0-8 สถานี อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาท เมื่อเดินทาง 9-16 สถานี อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 20 บาท  

 

“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน

3. การคิดแบบอัตราเดียว (Flat Fare) 20 บาท ตลอดสาย ซึ่งรูปแบบที่ 3 มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากการสำรวจข้อมูลของประชาชนที่จะใช้บริการมีความสามารถในการชำระค่าโดยสารอยู่ที่ 20-30 บาท คิดเป็น 41% รองลงมาค่าโดยสารน้อยกว่า 51 บาท คิดเป็น 16% ค่าโดยสารอยู่ที่ 41-50 บาท คิดเป็น 13.4% และค่าโดยสารอยู่ที่ 0-19 บาท คิดเป็น 8.3% 

 

 

 

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการฯในรูปแบบระบบรถรางไฟฟ้า ล้อยาง (Tire Tram) และการคิดแบบอัตราเดียว (Flat Fare) 20 บาท ตลอดสาย พบว่า อัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) 14.30%  มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,879 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.28  คาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 14,000 คน-เที่ยวต่อวัน และในอีก 40 ปี ข้างหน้าคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 60,000 คน-เที่ยวต่อวัน  

 

 

“รฟม.” กางไทม์ไลน์ประมูล “แทรมเชียงใหม่” 9.2 พันล้าน

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)   ระยะทาง 16.7 กม. ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง มีสถานีระดับดิน 16 สถานี ประกอบด้วย  1.ร.พ.นครพิงค์ 2.ศูนย์ราชการฯ 3.สนามกีฬา 700ปี 4.ศูนย์ประชุมฯ 5.หนองฮ่อ 6.โพธาราม 7.ข่วงสิงห์ 8.ม.ราชภัฏ 9.ขนส่งช้างเผือก 10.มณีนพรัตน์ 11.สวนดอก 12.สวนปรุง 13.หายยา 14.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 15.บ้านใหม่สามัคคี และ16.แม่เหียะสมานสามัคคี  โดยมีจุดจอดแล้วจร จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานีร.พ.นครพิงค์ พื้นที่ 5.6 ไร่ เป็นอาคาร 6 ชั้น สามารถจอดรถได้ 500 คัน  2.สถานีแม่เหียะสมานสามัคคี พื้นที่17.7 ไร่ สามารถจอดรถได้ 500 คัน และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง เนื้อที่ 32.3 ไร่