น้ำมันดิบ WTI ร่วงปิดที่ 84.58 ดอลลาร์/บาเรล กังวลจีนชะลอนำเข้าน้ำมันดิบ

24 ต.ค. 2565 | 23:51 น.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (24 ต.ค.) หลังจากจีนเปิดเผยยอดนำเข้าน้ำมันดิบชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบขยับลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 84.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
         

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 24 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 93.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
         

สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลง หลังจากสำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบ 9.79 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ย. ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันลดการนำเข้า ท่ามกลางอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาด


นักวิเคราะห์จากบริษัทไอเอ็นจีกล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน กำลังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าทางการจีนเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565 ที่ดีเกินคาดก็ตาม
           

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2565 ขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวราว 3.3% - 3.4%

 

อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่าเฟดจะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 49.5 ในเดือนก.ย. โดยดัชนี PMI ถูกกดดันจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

 

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 4
         

ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทไพร์ซ ฟิวเจอร์ กรุ๊ปกล่าวว่า การชะลอตัวของดัชนีภาคธุรกิจอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้นอาจได้ผล และอาจจะทำให้เฟดชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการใช้พลังงาน