"กนอ."รุกต่อยอดมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
"กนอ."รุกต่อยอดมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งยกระดับขีดความสามารถ เตรียมความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของกนอ. (I-EA-T Sustainable Business : ISB) นำมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาพัฒนาให้เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ เตรียมความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจ สร้างคุณค่าร่วมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมใน 2 มิติ คือ
- การพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจโดยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ใน 5 ด้าน ได้แก่ ธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ลูกค้าและผู้บริโภค
- การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางสังคมในการแสดงความรับผิดชอบในรูปแบบนอกกระบวนการทำงาน ร่วมกับกลุ่มมาตรฐานที่มุ่งสะท้อนผลสัมฤทธิ์จากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
สำหรับการดำเนินโครงการฯ เน้น 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
- การดำเนินงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
- เพิ่มขีดความสามารถในการประเมินและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ให้แก่บุคคลากรในภาคอุตสาหกรรม
- เปิดเผยข้อมูลรายงานผลกระทบ และส่งเสริมการรับรองเครือข่ายธุรกิจยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมไทย สร้างความร่วมมือและเรียนรู้กรณีศึกษาธุรกิจยั่งยืน
"ปีนี้เป็นปีแรกที่ กนอ.ได้ริเริ่มขึ้น โดยมีผู้ประกอบการ 8 แห่ง จาก 6 นิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับรางวัล"
นางปนัดดา รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า โครงการ ISB เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นำร่องในนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 15 แห่ง ใน 9 นิคมอุตสาหกรรม โดยการจัดสรร ISB Coach จากผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ เพื่อร่วมกับผู้ประกอบการในการยกระดับมิติการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ และมิติการวัดผลกระทบทางสังคมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งจัดกระบวนการรับรอง ISB LIST ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจยั่งยืนให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ดี ตลอดจนการนำไปสู่การสร้างพันธมิตรในการขยายผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด
ผลการมอบรางวัล I-EA-T Sustainable Business Awards 2022 มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
- รางวัล ISB EXCELLENCE รางวัลระดับดีเยี่ยมและสะท้อนความเป็นผู้นำกลุ่มในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
- รางวัล ISB LEADER รางวัลที่อยู่ในระดับผู้นำของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จ.ชลบุรี , บริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา และ บริษัท สตาร์ส เทคโนโลยี อินดัสเตรียล จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง จ.ระยอง
- รางวัล ISB STRATEGY รางวัลในระดับกลยุทธ์การดำเนินงานองค์กร ได้แก่ บริษัท ครูเกอร์ เวนทิเลชั่น อินดัสทรีส์ เอเชีย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร
- รางวัล ISB INITIATOR รางวัลในระดับการริเริ่มกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร และ บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สงขลา) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา
- รางวัลพิเศษ ISB DNA รางวัลสำหรับผู้ที่มีความโดดเด่นด้านการส่งเริมวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
โครงการ ISB เป็นโครงการที่ กนอ. ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งสัญญาณให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ (17 SDGs :Sustainable Development Goals) ที่ตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งทางสังคมและระบบนิเวศอย่างสมดุล
ด้วยแนวคิดในการต่อยอดการส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน สร้างความแข็งแกร่งตลอดห่วงโซ่คุณค่าในระดับโลก (Global Supply Chain) และดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งสามารถสะท้อนตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน