อยุธยา อ่วม! น้ำท่วม  บ้าน5หมื่นหลังคาเรือน กว่า 700หมู่บ้านจม บาดาล

09 ต.ค. 2565 | 04:28 น.

อยุธยาอ่วม!น้ำท่วม  บ้าน5หมื่นหลังคาเรือน กว่า 700หมู่บ้านจม วัดวาอาราม โบราณสถาน เขตเศรษฐกิจ จมบาดาล จาก ฝนตกหนัก ปะทะ น้ำป่า น้ำเหนือ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา ทะลักเข้าท่วม คาดขยายวงกว้างกินอีกหลายพื้นที่ จังหวัด -ทุกภาคส่วนระดมเข้าช่วยเหลือ

 

การเดินทางของมวลน้ำก้อนใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศไหลบ่า เข้ามาผสมกับน้ำป่า แม่น้ำป่าสัก ลุ่มเจ้าพระยา  น้ำระบายออกจาก เขื่อน รวมไปถึงน้ำฝน ที่ตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ หลายพื้นที่ เกิดน้ำบ่าเข้าท่วม ถนนหลายสายถูกตัดขาด

 

ล่าสุด วันที่9 ตุลาคม 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วม จาก จ.พระนครศรีอยุธยายังคงอยู่ในขั้นวิกฤต มีน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน  ได้รับความเดือดร้อน รวมไปถึงวัดวาอาราม โบราณสถาน พื้นที่เศรษฐกิจในเกาะเมืองเก่าจมน้ำ อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ เสริมแนวป้องกันเฝ้าระวัง ตามนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่  

แหล่งข่าวจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า  ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยน้ำได้ทะลักท่วม   12 อำเภอ 132 ตำบล 796 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเสียหายแล้วทั้งหมด 48,493 ครัวเรือน ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ และขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า 50,000 ครัวเรือน  

 

 

ขณะพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดและมีแม่น้ำล้อมรอบ ล่าสุด ปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักได้เอ่อล้นหลายพื้นรอบเกาะเมืองอยุธยา จนจ่อทะลักหลากเข้าท่วมถนนอู่ทองแล้ว ล่าสุด เจ้าหน้าที่ต้องเร่งทำแนวป้องและเฝ้าระวังจุดเสี่ยงต่างๆ

 

ส่วนสถานการณ์ ที่วัดรัตนชัย (วัดจีน) ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นตลิ่ง จนหลากเข้าท่วมพื้นที่วัด สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนที่โบราณสถานป้อมเพชร อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสามแยกแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำป่าสัก ขณะนี้ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 2 เมตร และมีกระแสน้ำค่อนข้างไหลแรง

 

นอกจากนี้ ที่ชุมชน ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดเกาะแก้ว และอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ถูกน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงกว่า 1.50 เมตร ส่วนโบราณสถานวัดปราสาท ที่เป็นโบราณสถานกลุ่มนอกเกาะเมือง ขณะนี้ถูกน้ำท่วมสูงเช่นกัน ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรเข้าออกพื้นที่