สธ.จ้างคนพิการกว่า 2,000 คนทำงานภายในปี 2561

19 ก.ย. 2559 | 09:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (19 ก.ย.2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในชุมชน ได้ทำงานใกล้บ้าน ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1 : 100 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานภายในปี 2561  โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 มีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ รวม 229,884 คน การจ้างงานคนพิการค่อนข้างน้อย ดังนั้นคาดว่าจะมีการจ้างงานคนพิการรวมประมาณ 2,298 คน เข้าทำงานตามคุณลักษณะของงานและศักยภาพที่สามารถปฏิบัติได้ในหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณ 10,700 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ได้จัดทำแนวทางการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการเป็นแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 3 กรณี คือ1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง ในอัตราส่วนคนพิการ 1 คนต่อจำนวนข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการ 100 คน สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ  การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ   การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน   ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เป็นผู้ประสานงาน