กฟผ.ยืนยันโครงการกระบี่และเทพาจำเป็นต่อการพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้

09 ก.ย. 2559 | 04:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กฟผ. ยืนยันเดินตามโรดแม๊บกระบี่และเทพา มิเช่นนั้น ประเทศจะต้องฝากอนาคตไว้กับก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพง ส่วนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน กฟผ. พร้อมเดินหน้า โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ว่า อยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการต่อไป สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นไปตามแผนงาน อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ และของประเทศ

“โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา มีความจำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปี และหากประเทศยังมีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากดังเช่นปัจจุบัน หรือไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา จะต้องเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนสูงขึ้น”

กรณีชุมชนทับสะแกเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นั้น  ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวยืนยันว่า กฟผ. ไม่เคยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะเรามีพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับชุมชนในปี 2550 ว่า กฟผ. จะไม่พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก แต่ถ้าในอนาคตชุมชนในพื้นที่ต้องการให้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จริง ก็จะต้องเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน  โดย กฟผ. พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายและความต้องการของชุมชน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่สะอาดที่สุดในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญไปพร้อมๆ กัน

นายกรศิษฏ์ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนในปัจจุบันว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า (Non-firm)  กฟผ. ต้องเตรียมโรงไฟฟ้าหลักรองรับในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งเป็นภาระส่วนเพิ่มที่ผู้ลงทุนพลังงานทดแทนไม่ต้องจ่าย แต่ถูกผลักเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็เป็นนโยบายที่ภาครัฐมีเป้าหมายต้องการให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ดังนั้นในส่วนของ กฟผ. ที่จะเสนอกระทรวงพลังงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 1,500 - 2,000 เมกะวัตต์ จึงจะเน้นโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทที่จ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง (Firm) ซึ่งนอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าหลักแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป มิเช่นนั้นอาจทำให้ประสบวิกฤตราคาค่าไฟฟ้าได้ เช่น ในยุโรปหลายประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพง อาทิ เยอรมนี และเดนมาร์ก