ดันตั้งธนาคารต้นไม้ ปลูกป่าปลูกรายได้ปลดหนี้เกษตรกร

02 ก.ย. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เป็นที่ทราบกันดีกว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลได้พยายามที่จะแก้ไข โดยขอให้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ทั่วไปพักชำระหนี้ ลดเงินต้น ชดเชยดอกเบี้ย รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ แต่สุดท้ายแล้วเกษตรกรก็ไม่สามารถที่จะปลดแอกนี้ได้ ล่าสุดทางบอร์ดบริหารของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้หยิบยกการการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อปลดหนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ "สุนทร รักษ์รงค์" รองประธานกรรมการบริหาร(บอร์ดบริหาร) และในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้วยธนาคารต้นไม้ ถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร

นำร่อง สมาชิกกองทุนฯ

"สุนทร" กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มาลงทะเบียนหนี้จำนวน 508,211 ราย มีมูลหนี้ของเกษตรกรสมาชิกรวมกัน 82,243 ล้านบาท ในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทาง กฟก. ได้ซื้อหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 28,514 ราย ชำระหนี้ได้ 5,817 ล้านบาท สามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรได้ 147,376 ไร่ คิดเป็น 5% คำนวณแบบบัญญัติไตรยางค์ หากยังใช้วิธีการแบบเดิมจะใช้เวลาจัดการหนี้ของเกษตรกรได้ทั้งหมด 320 ปี ดังนั้นจึงได้นำแนวความคิดเรื่อง ธนาคารต้นไม้ เป็นหนทางลัดที่จะปลดหนี้ให้เกษตรกร โครงการนี้มิใช่เพิ่งเกิดแต่ได้ผ่านร้อนผ่านหนามาเป็นระยะเวลา 10 ปี และผ่านมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ประกาศเป็นนโยบาย และในยุคปัจจุบันสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษา แต่ท้ายสุดก็ตกชั้นกรรมาธิการ แท้งก่อนคลอดทุกที

[caption id="attachment_92370" align="aligncenter" width="335"] สุนทร รักษ์รงค์ สุนทร รักษ์รงค์[/caption]

"วันนี้ป่าไม้ในเมืองไทย มี 31% ของพื้นที่ทั่วประเทศ ในพื้นที่ผืนป่าทั้งหมด 102 ล้านไร่ ในแผนแม่บทของรัฐบาลได้กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% หรืออีกประมาณ 26 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี ซึ่งเห็นว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักคิดการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาล ดังนั้นมิติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารต้นไม้ พ.ศ. .... จะประกอบด้วย 4 มาตรา หลักๆ คือ 1.ต้นไม้ที่ปลูก ตาม พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ จะต้องไม่ถูกบังคับโดยกฎหมายอื่น 2. ต้นไม้เวลาปลูกส่วนมากจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมันตาย หมายถึง ไม้แปรรูป หรือไม้ท่อน โค่นและได้เงิน หรือเอาไปเผาทำเป็นถ่านก็ได้เงิน ถามว่าทำไมไม่เอาต้นไม้ขณะมีชีวิตให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์สิน 3.มีองค์กรบริหาร และ 4.แรงจูงใจที่จะให้เกษตรกรปลูกต้นไม้"

 หลักคิดและวิธีการ

สำหรับวิธีการของธนาคารต้นไม้คือ 1.ให้รัฐบาลรับรองมูลค่าปีละ 100 บาทต่อ 1 ต้น สูงสุด แค่ 10 ปี ต่อ 1 ต้น เพียงแค่รับรอง ยังไม่ได้จ่ายเงิน แต่ที่จ่ายเงินก็คือ ค่าดูแลต้นไม้ 275 บาทต่อต้น ไม่ได้จ่ายทีเดียว จ่ายแต่ละปี ถ้าปีที่ 5 รักษาไว้ไม่ได้ก็หยุดการจ่ายทันที นี่คือหลักคิดที่จะนำมาใช้กับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูก่อน ซึ่งสมาชิกกองทุนสามารถทำได้เลย เพราะมีแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว เพียงแค่เสริมเข้าไปอยู่ในหมวดให้เกษตรกรได้เลือก เพิ่มรายการเข้าไป โดยกองทุนฯมีการจัดสรรเงินให้เกษตรกรเป็นกลุ่มองค์กรไปกู้เป็นทุน จำนวน 30,000 บาท ยกตัวอย่าง กลุ่มองค์กร ก. มีสมาชิกจำนวน 50 คน ในจำนวน 20 คนอาจจะทำแผนฟื้นฟูปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นงบอุดหนุนที่กองทุนให้จังหวัดละ 7.8 แสนบาท ส่วนที่เหลืออาจจะไปเลี้ยงโค หรือเลี้ยงไก่ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ อะไรก็ได้ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นทางออกที่สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ผิดระเบียบด้วย

ที่ผ่านมาเกษตรกรผ่อนเงินหมด แต่ไม่สามารถดึงโฉนดออกจากกองทุนฯได้กว่า 400 ฉบับ ถือเป็นความผิดพลาดของกองทุน ไม่ใช่เกษตร เพราะเกษตรกรไม่เคยทำแผนโครงการ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกองทุนฟื้นฟูกับเกษตรกร ทางบอร์ดเองได้มีการประชุมหลักทรัพย์ที่อยู่กับกองทุน ภายในปี 2559 จะส่งมอบโฉนดให้ได้ทั้งหมด โดยคงให้เกษตรกรมาทำสัญญาการปลูกต้นไม้ แนวทางก็คือ ต้องให้รัฐบาลรับรองมูลค่าความเป็นจริง โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว แต่ให้รับรองว่าต้นไม้ที่ปลูกมีมูลค่าต้นละ 100 บาท ต่อปี ระยะเวลา 10 ปี สูงสุดได้รับต้นละ 1 พันบาท ซึ่งมูลค่าที่ได้นอกจากมูลค่าทางโฉนดที่ดินแล้ว ยังมีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นต้นไม้ ยกตัวอย่างต่อไร่ ที่จะให้กำหนดให้เกษตรปลูก 40 ต่อต่อไร่ หากเกษตรกรมีพื้นที่ 10 ไร่ ในอีก 10 ปีข้างหน้าต้นไม้เหล่านี้จะมีมูลค่า 4 แสนบาท

นอกจากนี้ ในกฎหมายจะมีองค์กรบริหารต้นไม้ จะได้ทราบฐานข้อมูลและองค์ความรู้ ปัจจุบันธนาคารต้นไม้โดยภาคประชาชน มี 3,000 สาขาทั่วประเทศ มีสมาชิกอยู่ 4 แสนราย หาก พ.ร.บ.เกิดขึ้น สมาชิกเหล่านี้จะมาอยู่ภายใต้กฎหมายทันที แต่ปัจจุบันกฎหมายป่าไม้ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูก โดยรัฐช่วยไร่ละ 3 พันบาท แต่วันนี้เหลือไม่ถึง 2 แสนไร่ เพราะปลูกได้ แต่ไม่ให้โค่น ติดโน้นติดนี่ แต่วันนี้สิ่งที่บอร์ดบริหารทำต้องการแก้ไขหนี้ด้วยแนวทางใหม่ที่ทำได้จริง

พักหนี้ 10 ปีให้สร้างตัว

"สุนทร" กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทำสัญญาการปลูกต้นไม้แล้ว ทางบอร์ดจะพักหนี้ให้เป็นระยะเวลา 10 ปี ช่วงเวลาที่เหลือให้เกษตรกรไปทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัว หรือจะส่งลูกเรียน ก็แล้วแต่ ขณะที่ต้นไม้ก็เติบโตไปเรื่อยๆ แล้วครบปีที่10 ปีค่อยพบกันและมาชำระหนี้ นี่คือการพักที่ช่วยให้เกษตรกรได้หายใจ แต่แลกกับการปลูกต้นไม้ ยกตัวอย่างเกษตรกร มีหนี้ 4 แสนบาท พอถึงระยะเวลาครบ 10 ปี ประกอบกิจการดี เลี้ยงหมู ได้กำไรพอจะคืนหนี้ 4 แสนแล้วมาคืน ถ้าโค่นต้นไม้ มีของแถมเป็นรายได้กลับ ก็คือ ได้เงินค่าดูแล 4 แสนบาท ในพื้นที่ 10 ไร่ของตนเองกลับไปด้วย แต่ถ้าเลี้ยงหมูแล้วล้มเหลว คุณเป็นหนี้กองทุนก็ต้องคืน เพราะฉะนั้นโค่นต้นไม้ แล้วคุณขาย ได้ประมาณ 6 แสนบาทบาท คุณก็จ่ายมาให้กองทุน 4 แสนบาท อย่างน้อยยังเหลือเงินกลับไป 2 แสนบาท เป็นต้น นี่คือแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรปลดหนี้

"ที่สำคัญ พ.ร.บ. ตัวนี้ ที่รัฐบาลการันตีมูลค่าต้นไม้ นอกเหนือจากมูลค่าที่ดิน หากมีหนี้ใน ธ.ก.ส. หรือธนาคารพาณิชย์อื่นเป็นหนี้ธรรมดา ไม่ใช่ สามารถที่จะนำมูลค่าตรงนี้ไปดึงโฉนดกลับมาได้ เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันแทน ทีนี้ ธ.ก.ส.ตั้งคำถามว่า เกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ จะทำอย่างไร วันนี้เชื่อว่าหากมี พ.ร.บ. อนาคตจะมีบริษัทประกันออกมาทำคล้ายกับประกันรถยนต์ เชื่อว่าเกษตรกรยินดีที่จะจ่ายเบี้ยประกัน ดังนั้นเชื่อว่ามาแนวทางนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนประเทศ และปลดหนี้ให้เกษตรกร"

 เตรียมจัดดินเนอร์ทอล์ก

วันนี้สิ่งที่อยากจะบอก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ว่า การปลูกต้นไม้คือการลงทุนที่ยั่งยืน และมั่นคงที่สุด ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการตลาด และการปลูกไม่สะเปะสะปะ เป็นการปลูกที่ทำตลาดล่วงหน้า เช่นไม้พะยูง โอกาสที่มูลค่าต่ำกว่าต้นละ 1 พันบาทเป็นไปไม่ได้ และไม่มีโอกาสล้นตลาด เพราะเชื่อว่าปริมาณไม้ในอนาคตจะหายไปเรื่อยๆ 2.การปลูกต้นไม้ ก็คือการออมทรัพย์และสวัสดิการที่ยั่งยืนที่สุด และที่สำคัญที่สุด ก็คือ นโยบายประชารัฐ ถ้าส่งเสริมสมาชิกกองทุนให้ปลูกต้นไม้ และรัฐช่วยดูแลรักษา เชื่อว่าเงินจะลงถึงประชาชน แล้วเข้าบัญชีโดยตรง ที่สำคัญเพิ่มพื้นที่ป่า ในพื้นที่ทำกินของประชาชน ไม่จำเป็นว่าการปลูกป่าจะต้องอยู่ในพื้นที่ป่า 3.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว40% อาจจะเพิ่มเหมือนญี่ปุ่นในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี 4.สมดุลนิเวศน์นำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหาร มองว่าการปลูกต้นไม้เป็นการกู้วิกฤติของประเทศไทย และเป็นการปฏิรูปประเทศไทยยั่งยืนที่สุด ขณะนี้กองทุนกำลังร่างระเบียบที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 สามารถนำไปพักชำระหนี้ได้ตามระเบียบ ระยะสั้นก็คือ 1.อุดหนุนให้ปลูกองค์กรละ 3หมื่นบาท 2.ระเบียบนี้หากออกมาจะสามารถพักชำระหนี้ระยะเวลา 10 ปี 3.ถ้ามี พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ออกมา สามารถใช้ตัวนี้ไปซื้อหนี้ได้ทุกธนาคาร เป็นจริงได้ ไม่ได้ขายความฝัน คาดว่าจะจัดดินเนอร์ทอล์กกับรองนายกรัฐมนตรีและจะเชิญสื่อมวลชนมาร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้ในเร็ว ๆ นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559