อะคิโยชิเปิดแผนดักนักชิมไฮโซ เทงบ 60 ล้านพัฒนาครัวกลาง ไอทีท้าชนแบรนด์ดัง

29 ส.ค. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"อะคิโยชิ" ซุ่มเงียบกินแชร์ตลาดอาหารญี่ปุ่นและชาบูพรีเมียม ชูกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองดักนักชิมไฮโซ หลังปักหมุดนาน 20 ปี ล่าสุดเท 60 ล้านบาท พัฒนาครัวกลาง วางระบบไอที พร้อมสร้างมาตรฐานเดียวกัน จ่อหวนรุกตลาดรอบกว่า 10 ปี วางเป้าหมาย 2 ปีนับจากนี้ขยาย 16 สาขา ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด หลัง 3-4 ปีทีผ่านมายอดขายเติบโต 4 เท่าตัว

นายสุรไกร ไพรสานฑ์กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อะคิโยชิ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่น "อะคิโยชิ" (Akiyoshi) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 60 ล้านบาท ในการพัฒนาครัวกลางที่ตั้งอยู่ย่านพระโขนง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครัวกลาง ระบบไอที โกดัง การจัดส่ง การซื้อขายหน้าร้านและตัวออฟฟิต เพื่อให้มีมาตรฐานมากที่สุด โดยครัวกลางแห่งนี้สามารถรองรับได้ 20 สาขา จากปัจจุบันที่บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 8 สาขา และหากอนาคตมีการขยายสาขาเกิน 20 สาขาแล้วก็จะมีการพัฒนาครัวกลางขึ้นมารองรับอีกครั้งหนึ่ง

" 3 ปีที่ผ่านมามีการขยายสาขาร้านเพิ่มถึง 7 สาขา หลังจากที่ไม่มีการขยายสาขามา 15 ปี จากเดิมที่มีเพียงแค่ 1 สาขาในย่านพระโขนง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คุณแม่ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มแต่ยังไม่มีการนำมาต่อยอด ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงนำกลับมาต่อยอดใหม่อีกครั้งเพื่อพัฒนาแบรดน์ให้มีการเติบโต ขณะเดียวกันยังมองว่าปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มชาบูกำลังได้รับความนิยม ซึ่งทางแบรนด์อะคิโยชิถือเป็นเจ้าแรกๆที่เข้ามาทำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยช่วง 20 ปีทีผ่านมา"

นายสุรไกร กล่าวต่อไปว่าระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาตัวธุรกิจของร้านเติบเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงมีการพัฒนาต่อยอดอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเมนูที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเข้าไป ขณะเดียวกันก็ปรับให้มีทั้งรูปแบบของบัฟเฟต์ และอะลาคาร์ท เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกัน โดยในแบบบัฟเฟต์ทมีราคาตั้งแต่ 420 บาท สำหรับน้ำซุปชาบู 1 ชนิด และ 470 บาท สำหรับน้ำซุปชาบู 2 ชนิด ขณะที่รูปแบบการทำตลาดของแบรนด์ในปีหน้ามองว่าเป็นช่วงของการสร้างแบรน์และเตรียมความพร้อมของระบบให้แข็งแกร่งก่อนที่จะรุกตลาดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

"ที่ผ่านมาทางร้านเติบโตจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของร้านที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นในสไตล์ต้นตำรับ และกลุ่มลูกค้าที่บอกต่อปากต่อปาก ดังนั้นแผนงานต่อจากนี้ของเราคือการทำอย่างไรที่จะขยายแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น" นายสุรไกรกล่าวและว่า

แน่นอนว่าขั้นต้นต้องมีการพัฒนาระบบให้ได้มาตรฐานเสียก่อนหลังจากนั้นจึงจะเป็นช่วงของการขยายสาขาและทำตลาด ขณะที่จำนวนสาขา 8 สาขาในปัจจุบันของบริษัทนั้นแม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น แต่จากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับการขยายผ่านโลเคชั่นหลักที่มีครบทั้ง 4 มุมเมืองนั้น เชื่อว่าจะสามารถรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะดวกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของบริษัทในการพัฒนาแบรนด์อะคิโยชินับจากนี้คือ การมุ่งมั่นและพัฒนารสชาติให้เป็นมาตราฐานเดียวกันในทุกสาขา หรือเรียกว่าเป็นช่วงของการพัฒนาระบบให้เต็ม100% หลังจากนั้นจึงจะเป็นช่วงของการขยายสาขา แบบก้าวกระโดดอาจจะถึง 16 สาขาในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ ซึ่งมีความเป้นไปได้ทั้งในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครรราชสีมา และชลบุรี เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559