กระทรวงวิทย์จับมือ 5 จังหวัดภาคอีสานลุยพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา  

24 ส.ค. 2559 | 09:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้(24 ส.ค.59) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ 5 จังหวัดทุ่งกุลา ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดมหาสารคาม ในการ พัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำ วทน.มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาตลอดห่วงโซ่คุณค่า พัฒนาและสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมข้าวไทยสู่ระดับสากล เพื่อผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้-งานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างสมดุล

ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสานต่อข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ลงนามเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558 ในการนำ วทน. มายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง โดยครั้งนี้ จะขยายขอบเขตความร่วมมือให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบตามที่ วท. และผู้ว่าฯ 5 จังหวัด เห็นชอบร่วมกัน ทำหน้าที่วางแนวทางปฏิบัติ และกำกับการดำเนินงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ติดตามและทบทวนการดำเนินงานให้มีการนำ วทน. ไปพัฒนาข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย คุณภาพชีวิตดีขึ้น และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นหัวหน้าทีมรับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ผ่านกิจกรรมวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ด้าน วทน. ในพื้นที่ทุ่งกุลา

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  วท. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดในรูปแบบประชารัฐ อาทิ เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด พัฒนาชุมชน ภาคเอกชน  โดยกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม อาทิ เกษตรกรและผู้ประกอบการเขตทุ่งกุลามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ผลผลิตข้าวหอมมะลิได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 การแปรรูปข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของปริมาณข้าวเปลือกในทุ่งกุลา เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตข้าวหอมมะลิลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นต้น