สถาบันอาหารเผยยอดส่งออกอาหารครึ่งปีแรก 4.7 แสนล้านบาท

22 ส.ค. 2559 | 04:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยการส่งออกอาหารของไทยครึ่งปีแรกขยายตัวค่อนข้างดี อยู่ที่ร้อยละ 9.9  มูลค่า 474,847 ล้านบาท  เหตุทั่วโลกประสบภัยแล้ง ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก และตลาดอาเซียนยังเติบโตดีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV  สินค้าส่งออกหลักขยายตัวสูงทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป  เชื่อครึ่งปีหลังภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์อาหารในภาพรวม โดยเฉพาะสินค้าประมงไทยจะดีขึ้นหลังสหรัฐฯปรับสถานะของประเทศไทยมาอยู่ที่ระดับ Tier 2  คาดมูลค่าส่งออกอาหารของไทยทั้งปี 2559 จะเขยิบไปอยู่ที่ 972,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สูงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีที่ร้อยละ5.6

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ถึงภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยช่วงไตรมาสที่ 2  ปี 2559  มีมูลค่า 235,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่หลายประเทศประสบภัยแล้ง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อชดเชยผลผลิตพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพื้นฐานจำพวกข้าว แป้ง และน้ำตาล ประกอบกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกุ้ง รวมทั้งเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย. 2559) มีมูลค่า 474,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป ตลาดส่งออกหลักขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+32.9%) ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ ขยายตัวดีในกลุ่มตลาดเดิม ได้แก่ ญี่ปุ่น (+9.0%) และสหรัฐฯ (+13.3%) เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ สับปะรด กระป๋อง กุ้งแช่แข็ง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลายตัวลง ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีขนาดตลาดรองลงไปส่วนใหญ่หดตัวลง ได้แก่ แอฟริกา (-6.1%) และตะวันออกกลาง (-14.2%) โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ขณะที่ตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อย่างมันสำปะหลังที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข้าวโพดในประเทศจีนมีราคาถูกและนำมาใช้ทดแทนมันสำปะหลังมากขึ้น รวมทั้งวัตถุดิบมันสำปะหลังของไทยมีปริมาณลดลงจากภัยแล้ง

แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 497,153 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขยายตัวต่ำกว่าในครึ่งปีแรก โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 240,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และการส่งออกในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีมูลค่า 256,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกสำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบหลักโดยเฉพาะกุ้งที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก มีการขยายตัวของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ประกอบกับสหรัฐฯ ปรับสถานะของประเทศไทยมาอยู่ที่ระดับ Tier 2 (Watch list) จากเดิมระดับ Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประมง รวมทั้งราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยทั้งปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ในช่วงต้นปีที่มูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.6 เนื่องจากกุ้งและสับปะรด มีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก หลายประเทศต้องการนำเข้าสินค้าอาหารมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตในประเทศที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งเช่นเดียวกับในช่วงครึ่งปีแรก และจะเอื้อต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่ที่จะส่งผลกระทบด้านบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในครึ่งปีหลัง  คือ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสินค้าประมงไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกหลักของไทย อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม  เป็นต้น

สินค้าส่งออกหลักที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย (+5.2%), ไก่ (+4.6%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+6.2%), กุ้ง (+31.1%), น้ำผลไม้ (+28.7%), สับปะรดกระป๋อง (+21.0%), เครื่องปรุงรส (+9.3%), อาหารพร้อมรับประทาน (+3.7%), กะทิสำเร็จรูป (+18.8%), นมพร้อมดื่ม (+12.4%) ส่วนสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว(-3.7%) และมันสำปะหลัง  (-9.3%)