กรมสบส.จับมือ วว.พัฒนาห้องแล็บทดสอบประสิทธิภาพเครื่องมือแพทย์ระดับสากล

27 ก.ค. 2559 | 04:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (27 กรกฎาคม 2559) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางลักษมี  ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบสอบเทียบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้การใช้เครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่ให้บริการแก่ประชาชนมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและอาการได้อย่างแม่นยำ ส่งผลดีต่อการรักษาพยาบาล

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า ตามความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งกรม สบส. และ วว. จะมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจวัดทางการแพทย์ ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดดิจิตอล เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ และเอกชน รวมถึงตามบ้านเรือนด้วย โดยจะมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ และประเมินความเที่ยงตรงของเครื่องมือประเภทนี้โดยเฉพาะ จำนวน 2 แห่ง ที่กองวิศวกรรมแพทย์ กรม สบส. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล และได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.17025 (ISO/IEC 17025) จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) เพื่อให้บริการทางด้านวิชาการ มีความรู้ในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของเครื่องวัดความดันโลหิต แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561 หลังจากนั้นจะขยายไปยังสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อให้การรับรองแก่สถานพยาบาลในพื้นที่

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เครื่องวัดความดันโลหิต จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และเป็นเครื่องมือที่มีความถี่ในการใช้งานสูงในอันดับต้นๆของโรงพยาบาล เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพ การทำงานของหัวใจ ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย รวมถึงคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิต ปัจจุบันนิยมใช้รูปแบบดิจิตอล เนื่องจากสะดวกในการใช้งาน สามารถพกพาได้ง่าย และรายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ความเที่ยงตรง ความแม่นยำ ของเครื่องอย่างต่อเนื่อง

ความร่วมมือครั้งนี้ จะส่งผลให้ระบบการควบคุมเครื่องวัดความดันโลหิตของประเทศไทยมีมาตรฐาน สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงผลการทดสอบ หรือเป็นสถาบันรับรองของประเทศ เปรียบเทียบมาตรฐานผลการวัดของเครื่องที่ผลิตในประเทศและเครื่องนำเข้า ก่อนจดทะเบียนขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ป้องกันเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานไหลเข้าไทย รวมถึง สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน เครื่องมือแพทย์ต่อประชาชน อีกทั้งอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ ในการแข่งขันทางการตลาดกับต่างประเทศ ที่ผ่านมากรม สบส. มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบค่ามาตรฐาน เครื่องวัดอุณหภูมิของร่างกาย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 แล้ว 1 แห่ง ที่กองวิศวกรรมการแพทย์