เผยทางม้าลาย 3 มิติ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้จริงหรือ?

06 ก.ค. 2559 | 06:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย พ.ศ.2555 ผลการรวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล การเกิดอุบัติเหตุของไทยปี 2555 พบว่า จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 1,179,135 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 23,601 ราย จากเดิมที่รายงานโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ 8,764 ราย ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็น 36.62 ราย ต่อ ประชากรแสนคน ซึ่งสถิติเมื่อปี 2554 ใช้ข้อมูลผู้เสียชีวิตเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราการเสียชีวิตที่ 20.81 รายต่อประชากรแสนคน การใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาวิเคราะห์ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญทันที เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายจากสถิติเดิมไว้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 10 รายต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นสุดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2563

จากปัญหาอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หลายฝ่ายมีการริเริ่มคิดหากลวิธีต่างๆ ที่จะช่วยกันลดความสูญเสียนี้ จากแนวคิดหนึ่งในต่างประเทศที่ได้ทำ ทางม้าลาย 3 มิติ ก็ได้มีผู้นำมาทดลองใช้ในประเทศไทย เช่น ที่โรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลก ด้วยมุ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการข้ามถนนที่ทางม้าลายมากขึ้น โดยลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วจนไม่ระวังให้คนข้ามถนนไปก่อนที่ทางข้าม จุดประสงค์หลักของการทำทางม้าลาย 3 มิติก็คือ ทำให้ทางข้ามถนนเป็นที่สะดุดตา เห็นได้ชัดเจน และกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับรถลดความเร็วลงเพื่อหยุดให้คนข้ามถนนไปก่อนได้ทันเวลา อย่างไรก็ตามข่าวการสร้างทางข้ามม้าลาย 3 มิตินี้ทำให้หลายคนมีข้อสงสัยว่า ทางม้าลาย 3 มิติ จะเป็นเหตุของความเสี่ยงในการขับรถและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงเพราะความตกใจของผู้ขับรถ

 

[caption id="attachment_68198" align="aligncenter" width="336"] อาจารย์อรวิทย์ เหมะจุฑา อาจารย์อรวิทย์ เหมะจุฑา[/caption]

อาจารย์อรวิทย์ เหมะจุฑา ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “ ปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุมี 3 อย่าง คือ คน ยานพาหนะ และถนนรวมสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ”คน”เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ถึงร้อยละ 95.7 โดยมีอุบัติเหตุเกิดจากปัจจัยร่วมของคนและถนนร้อยละ 19.3  การสร้างทางม้าลาย 3 มิตินี้ เป็นการช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากคนและถนนลงได้บ้าง หลักเกณฑ์ในทำทางม้าลายกำหนดไว้ในมาตรฐานเครื่องหมายจราจร ตามประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ในปี 2546 เป็นเครื่องหมายจราจรประเภทบังคับ การจะทำทางข้ามบนทางหลวงซึ่งมีอยู่ 5 ประเภทคือ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงเทศบาล นั้น ไม่ใช่ว่าใครจะทำขึ้นมาก็ได้ เพราะเส้นทางข้ามนี้ต้องเป็นสีขาว อาจจะเป็นเส้นขนานหรือแถบขวางลายขีดก็ได้ สำหรับพื้นถนนไม่ได้กำหนดสี  ในการพิจารณาว่าจุดไหนควรทำทางข้ามซึ่งไม่ใช่ที่ทางแยก ต้องดูว่าเป็นชุมชนหรือโรงเรียนที่มีจำนวนคนข้ามและปริมาณรถในถนนที่เหมาะสม โดยปกติทางข้ามจะกว้าง 2 เมตร  ถ้ารถวิ่งกันเร็วกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จะกว้าง 4 เมตร

ทั้งนี้ต้องพิจารณาจำนวนคนข้ามถนนประกอบด้วย จุดประสงค์หลักสำหรับการทำทางข้ามหรือทางม้าลาย ก็เพื่อให้ประชาชนผู้ข้ามถนนมีความปลอดภัย ซึ่งตามกฎจราจรขณะที่มีคนข้ามถนนในทางข้ามผู้ขับรถต้องหยุดให้คนข้ามก่อน จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ต่างประเทศมีการนำเอาหลักการทำทางม้าลาย 3 มิติเข้ามาใช้ที่เมืองหนึ่งในประเทศอินเดียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และประเทศจีนนำมาใช้ที่เมืองหนึ่งเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว จากข้อมูลที่มีการสอบสอบถามผู้ที่ใช้รถในประเทศจีนว่าการสร้างทางม้าลาย 3 มิตินั้น ทำให้เกิดการตกใจเมื่อขับรถหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า เมื่อรถกำลังเคลื่อนตัวนั้น ผู้ขับรถจะมองเห็นภาพ 3 มิติได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่จุดๆหนึ่งเท่านั้น สำหรับที่ประเทศอินเดียผู้ทำกล่าวว่า ภาพที่ผู้ขับรถมองเห็นภาพนูน 3 มิติจะไม่ชัดเจนเหมือนภาพถ่าย ผลจากการทดลองใช้ทางม้าลาย 3 มิติในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดียหรือประเทศจีนที่ได้นำแนวคิดนี้มาใช้พบว่า ทางม้าลาย 3 มิติ ทำให้ผู้ขับรถมีความสนใจและเห็นทางข้ามได้ชัดเจน และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และยังไม่พบว่าทางม้าลาย 3 มิตินี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทยทางกรมทางหลวงชนบทได้มีโครงการศึกษาวิจัย เพื่อดูว่าทางม้าลาย 3 มิติมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่โดยได้ขอให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องของทางม้าลาย 3 มิติ ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษา 4 เดือน โดยเดือนแรกจะรวบรวมข้อมูลผลงาน เกี่ยวกับเรื่องทางม้าลาย 3 มิติ เดือนที่ 2 ออกแบบวิเคราะห์รูปแบบที่เหมาะสม เดือนที่ 3 ทดลองติดตั้งและสำรวจข้อมูล และเดือนที่ 4 จะเป็นการประเมินผล ดังนั้นภายในระยะเวลา 4 เดือนนี้ก็จะทราบผลการศึกษาว่าจะเป็นอย่างไรเพื่อความปลอดภัยที่จะนำมาใช้งาน ตามข่าวที่เห็นในสื่อต่างๆ เป็นทางม้าลาย 3 มิติ ที่โรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยยังไม่ได้ทำในทางหลวงซึ่งในการทำต้องอาศัยฝีมือและสีที่คงทนต่อการเสียดสีของยางรถ การใช้เครื่องตีเส้นตามปกติอาจจะไม่สามารถทำให้มองเห็นเป็นภาพ 3 มิติได้