ยังเป็นกระแสต่อเนื่องสำหรับรถไฟฟ้า “เนต้า” (NETA) ที่ล่าสุดพบว่า ผู้ใช้รถไฟฟ้าเนต้า ได้ยื่นหนังสือต่อสภาผู้บริโภค หลังซื้อไปแล้ว ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นป้ายขาวได้ ขณะที่หลายคนประสบปัญหารถเสีย แต่ไม่สามารถซ่อมแซมได้เนื่องจากอะไหล่ขาด ศูนย์บริการหลายแห่งปิดตัวลง หรือปฏิเสธการเคลมสินค้า
นายธนพันธุ์ คงเจริญ ผู้ประสานงาน ผู้เสียหายจากกรณีใช้รถไฟฟ้าเนต้า กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเนต้าประมาณ 25,000 คัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2567 เมื่อบริษัทแม่ในประเทศจีนประสบปัญหาทางการเงิน สร้างผลกระทบในหลายด้าน
โดยเฉพาะปัญหาที่สำคัญ 3 เรื่องหลัก คือ 1. ปัญหาการจดทะเบียนป้ายขาว 2. การเคลมอะไหล่ที่ล่าช้าและขาดแคลนชิ้นส่วน และ 3. ศูนย์บริการปิดตัวลงหรือไม่รับเคลมจากลูกค้าหลายราย
“ปัญหาการเคลมอะไหล่ทั้งส่วนที่เป็นระบบขับเคลื่อนและชิ้นส่วนอื่น ๆ ของรถยนต์นั้น ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ล่าช้าเนื่องจากศูนย์ไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่ ต้องรอของจากบริษัทแม่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องระบบขับเคลื่อนจึงไม่สามารถใช้งานได้ และยังต้องจอดรอซ่อมอยู่ที่ศูนย์บริการโดยไม่ได้รับค่าขาดประโยชน์ หรือการชดเชยใด ๆ จากบริษัท
อีกปัญหาคือผู้บริโภคถูกปฏิเสธการซ่อมจากศูนย์ เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ซื้อรถจะสามารถนำรถเข้าไปใช้บริการในศูนย์ของเนต้าได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าศูนย์ที่ซื้อมาเท่านั้น แต่เมื่อศูนย์บริการหลายแห่งปิดตัวลงเนื่องจากความไม่แน่นอนของบริษัทแม่ ทำให้เกิดปัญหาว่าศูนย์ที่ยังไม่ปิดตัวมีรถเข้าไปขอเคลมเป็นจำนวนมาก จึงปฏิเสธไม่ให้ผู้บริโภคที่ซื้อจากศูนย์อื่นเคลม จึงมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องนำรถไปซ่อมในอู่ข้างนอก ซึ่งจะทำให้บริษัทใช้เป็นข้ออ้างได้ว่ารถที่ซ่อมจากอู่ข้างนอกนั้นหมดประกันกับบริษัทแล้ว
ด้านนายจักรชัย เงาศรี แกนนำผู้เสียหายจากกรณีใช้รถไฟฟ้าเนต้า กล่าวว่า ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนต้าได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่ศูนย์บริการหลายแห่งปิดตัวหรือปฏิเสธเคลม ซึ่งสร้างความเสียหายและความไม่พอใจให้กับผู้บริโภคอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือการชดเชยใดๆ จากบริษัทที่ควรจะมีการดูแลหลังการขายอย่างเหมาะสม
กลุ่มผู้เสียหาย ได้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ได้แก่
1. การแก้ไขปัญหาบริการหลังการขายและการหล่ออะไหล่แบบไม่มีกำหนด ทั้งชิ้นส่วนของรถยนต์ และระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
2. แก้ปัญหาเรื่องการจดทะเบียนป้ายขาวให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน
3. ให้มีบริการเสริมตามสัญญา เช่น ที่ชาร์จแบบติดผนัง (Wall Chart) และคู่มื่อการใช้งานต่าง ๆ
4. กำหนดการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องไม่ได้รับการบริการด้านอะไหล่และเรื่องการจดทะเบียน
5. ขอให้บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการปัญหาเรื่องศูนย์บริการที่ปิดตัวลงโดยเฉพาะต่างจังหวัด เพื่ออํานวยความสะดวกผู้ใช้บริการ
6. ขอให้บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำสัญญารับประกันการเคลมภายใน 1 เดือน
7. หากบริษัทไม่ดำเนินการต่อในประเทศไทย ขอให้รับซื้อรถคืนจากผู้บริโภคทุกคนและชดเชยเยียวยาค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทุกกรณี
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนต้าตั้งแต่ช่วงต้นปี 68 จนถึงปัจจุบัน รวม 69 กรณี มีทั้งกรณีที่ไม่ได้ป้ายขาว ไม่ได้ซ่อมจากการบริการหลังการขาย โดยหลังจากนี้ สภาผู้บริโภคจะจัดประชุมเจรจาโดยเชิญบริษัท เนต้า (ไทยแลนด์) จำกัด รวมถึงผู้แทนจำหน่วย เข้ามาเจรจาภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในเรื่องการจัดการบังคับใช้กฎหมาย และจะส่งหนังสือถึงสถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ สถานทูตที่เกี่ยวข้องกับกรณีรถคันรถยี่ห้อนี้ด้วย ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา สภาผู้บริโภคจะใช้อํานาจตามกฎหมายในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต่อไป