หลังจากที่ภาคเอกชนนำเสนอข้อเรียกร้องให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนกฎหมายควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ 4 กระทรวง ประกอบไปด้วย มหาดไทย การท่องเที่ยวและกีฬา ยุติธรรม และสาธารณสุข ร่วมกันศึกษาทบทวนกฎหมายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน 4 ประเด็นได้แก่
การห้ามจำหน่ายระหว่างเวลา 14.00 -17.00 น. ซึ่งเป็นคำสั่งคณะปฏิวัติ ตั้งแต่ปี 2515 ว่าเหมาะสมหรือสอดรับความเป็นจริงในสังคมไทยอย่างไร และการห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การห้ามจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดเขตพื้นที่ควบคุมหรือโซนนิ่ง โดยขอให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มี.ค. 2568 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
นางสาวประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปลดล็อกการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 14.00 – 17.00 น. นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
ซึ่งการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มและบาร์ ซึ่งจะสามารถเพิ่มยอดขายและขยายเวลาในการให้บริการได้มากขึ้น และสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมทำควบคู่กับกับการส่งเสริมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ
สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างและเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ขณะที่การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ปกติแล้ววันสำคัญทางพุทธศาสนาของไทย มีประมาณ 5-6 วันต่อปี การต้องหยุดจำหน่ายแอลกอฮอล์และต้องปิดสถานบันเทิง ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า สถานบันเทิง และโรงแรม ถ้ามีการปลดล็อคหรือมีข้อเสนอให้มีการยืดหยุ่น
“ประเด็นการห้ามขายของในวันพระใหญ่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีความเห็นที่แตกต่างกัน การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาสมดุลระหว่างการเคารพศาสนาและการส่งเสริมเศรษฐกิจ”
ด้านนายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า ชมรมได้เรียกร้องมากว่า 5 ปี จนผ่านไป 3 รัฐบาล ในเรื่องของการยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ 2515 ที่ไม่ให้จำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในช่วงเวลา 14.00 น.-17.00 น. ซึ่งวันนี้นายกฯแพทองธาร เข้าใจในเรื่องของข้อเรียกร้องที่ชมรมได้เรียกร้องมาโดยตลอด และเข้าใจในเรื่องของบริบทและกฎหมายที่ล้าหลังกับบริบทของประเทศในปัจจุบัน
ทั้งนี้ทางชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเข้าใจว่ามีหลายหน่วยงานมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเยาวชน ซึ่งทางชมรมได้อธิบายเราขอเรียกร้องให้กับเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เป็นร้านอาหารเท่านั้นที่ให้ยกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 14.00-17.00 น. และมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเยาวชนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรามีกฎหมายในการดูแลหลายฉบับทับซ้อน ที่สำคัญได้เน้นย้ำตลอดว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งดีกว่าการเอากฎหมายมาครอบ
“หากปลดล็อกคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับนี้ไปได้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในกับกลุ่มภาคธุรกิจร้านอาหารให้สามารถเติบโต และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง GDP ให้กับประเทศไทยสามารถเติบโตได้ในปีนี้รวมทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าข้อสั่งการนี้จะมีผลใช้ทัน 1 เม.ย. นี้”
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน กล่าวว่า ในอดีตการขายเครื่องดื่มประเภทเหล้าหรือสุราสามารถขายได้ตลอดเช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป ผู้บริโภคสามารถซื้อได้พร้อมกันโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ปัจจุบันเมื่อมีข้อจำกัดด้านเวลาทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่ซื้อสินค้าทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย แต่หากขายได้แบบเสรีจะทำให้การซื้อขายสะดวกและเป็นปกติขึ้น ในมุมมองของผู้ขายถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนการอนุญาตขายในวันพระใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องปกติ
“ที่จริงการควบคุมเรื่องการขายเหล้าควรจะปลดล็อคนานแล้ว เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับการขาย แต่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปลายทางผู้บริโภค การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการขายแบบเสรีอาจจะทำให้ร้านค้ากระเตื้องขึ้นในระดับหนึ่ง เพราะการดื่มเหล้าของผู้บริโภคจะมากขึ้น มีช่วงเวลาการกินหลากหลายและสะดวกขึ้น แต่จะเพิ่มมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและรายได้ของผู้บริโภค”
สำหรับสุรานอกในประเทศไทยตอนนี้ถือว่าเป็น Niche Market อยู่ในกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ อีกทั้งบริษัทผู้จำหน่ายก็ดาวน์ไซด์ตัวเองลง ไม่ทำการตลาด รวมถึงลดการจัดจำหน่าย ตลาดจึงไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีต และผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มเลือกสุราราคาถูก นอกจากนี้คนรุ่นใหม่หันไปสนใจดื่มเบียร์มากกว่า ส่วนที่ดื่มสุราก็นิยมแบรนด์ไทย วัฒนธรรมการดื่มของคนไทยไม่แยกประเภทแล้ว เพราะคุณภาพและกลิ่นของสุราไทยก็ปรับกลิ่นดีขึ้นเทียบกับสุรานอกได้
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจมีรายได้ และช่วยตัดปัญหาการรับสินบนที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจะดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ 2 ขวดต่อคน โรงแรมขายขวดละ 200 บาท หากปลดล็อกในเรื่องนี้ ก็คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉพาะขายแอลกอฮอล์อย่างเดียว ไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมรายได้อื่นๆที่เกี่ยวเนื่องเช่นอาหารหรือท่องเที่ยว
“หลังการปลดล็อกมาตรการนี้ อยากให้รัฐบาลมีการสังคายนาการประกอบธุรกิจร้านอาหารผับบาร์ โดยให้ทุกคนต้องมาขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เพื่อรัฐบาลจะได้มีรายได้ค่าธรรมเนียมในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ส่วนเรื่องการยกเลิกการขายแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ถ้าภาครัฐหวั่นว่าจะกระทบในแง่ศาสนา ก็อาจจะเริ่มในพื้นที่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยว เช่นกรุงเทพ เริ่มที่ถนนข้าวสาร หรือซอยคาวบอย”
ขณะที่นายกวี สระกวี นายกสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า แผนการปลดล็อกห้ามขายแอลกอฮอล์ที่อาจเกิดขึ้นหลักๆจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว เพราะจะลดตัวแปรที่ทำลายบรรยากาศในการท่องเที่ยวลงได้ เพราะที่ผ่านมาคนไทยปรับตัวอยู่แล้ว รู้ว่าจะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลาใด แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่รู้เวลา เมื่อเดินทางมาไทยก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่สามารถทานอาหารคู่กับแอลกอฮอล์ในเวลาดังกล่าวได้ ทั้งยังช่วยส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างสุราชุมชน หรือ สุราพื้นบ้านด้วย
เนื่องจากการขายสุราชุมชน ส่วนใหญ่จะขายในร้านอาหารต่างๆในต่างจังหวัด หรือร้านค้าต่างๆในต่างจังหวัด ซึ่งช่วง 14.00-17.00 น. เป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยว ดังนั้นหากยกเลิกเรื่องนี้ได้ ก็จะส่งเสริมธุรกิจสุราชุมชนได้ ทั้งนี้จากผลการศึกษาของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก พบว่า 1 ใน 4 ของ นักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ พร้อมใช้จ่ายในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น การปลดล็อกในเรื่องนี้ของไทยก็จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาตลาดรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเก็บรายได้จากภาษีเบียร์ 90,014 ล้านบาท ภาษีสุรา 64,603 ล้านบาท