ผ่าอาณาจักรโคนมวังนํ้าเย็น จากธุรกิจนมสู่ธุรกิจท่องเที่ยว

14 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เปิดประเด็น “ตะลึง !นม ร.ร.ไทยขายกัมพูชา มิลค์บอร์ดเต้นสั่งสอบ/บิ๊กสหกรณ์วังนํ้าเย็นยันไม่ผิด” ในฉบับที่ 3,162 วันที่ 2-4 มิถุนายน 2559และยังเกาะติดว่าคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ดจะดำเนินการอย่างไร หรือมีบทลงโทษอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งก่อนจะมีผลอย่างไรออกมานั้น“อำนวย ทงก๊ก” หรือกำนันอำนวยประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็น จำกัด ได้เปิดให้ทีมงาน “ฐานเศรษฐกิจ” เข้าเยี่ยมชมอาณาจักรสหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็นครบวงจร ณ จังหวัดสระแก้ว และได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษในทุกเรื่องที่เป็นข้อกังขา และทุกเรื่องที่อยากทราบ

[caption id="attachment_61985" align="aligncenter" width="380"] อำนวย ทงก๊ก อำนวย ทงก๊ก[/caption]

ยันโดนลดสิทธิ์ ไม่ใช่ทุจริต

เรื่องแรก “อำนวย” ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงที่มาของการนำผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนไปจำหน่ายที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชาว่า ในช่วงปิดเทอมทางมิลค์บอร์ด ได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรสิทธิ์ขายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้ง 67 รายต้องผลิตนมบรรจุกล่องช่วงปิดเทอมเก็บสต๊อกไว้ แต่ปรากฎว่าหลังจากมีการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายจริงสหกรณ์ฯได้โควตาขายลดลงจึงทำให้มีนมส่วนเกินต่อวันๆละ 4.91 หมื่นกล่องต่อถุงต่อวัน (ภาคเรียนที่ 1/2558 ทางสหกรณ์ได้รับการจัดสรรสิทธิ์จำนวน6.58 แสนกล่องต่อถุงต่อวัน แต่ในภาคเรียนที่ 2/2558 และปีการศึกษา 2559 ได้จัดสรรสิทธิ์เหลือ 6.09 แสนกล่องต่อถุงต่อวัน) ดังนั้นทางสหกรณ์จึงได้นำนมส่วนเกินจำนวน 1.13 ล้านกล่องคิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาทไปจำหน่ายในกัมพูชาเพราะเกรงว่านมที่ผลิตไว้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 ที่เป็นช่วงปิดเทอมจะหมดอายุ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทางสหกรณ์

“ผมไม่ได้ทุจริต ไม่ได้แคร์สังคม เพราะต้องการทำองค์กรให้อยู่รอด และไม่ใช่สหกรณ์เดียวที่เดือดร้อน แต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะฉะนั้นวันนี้ทางมิลค์บอร์ดจะต้องมาช่วยกันดูแลว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะอะไร ไม่ใช่พอมีปัญหาก็โยนให้รัฐบาลแก้ เพราะวันนี้รัฐบาลก็ได้นำงบประมาณมาจัดซื้อนมโรงเรียนแล้ว จะให้มาช่วยอะไรอีก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบาย วันนี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการและทางคณะกรรมการจะต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหา มาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร”

จี้แก้นมค้างสต๊อก 300 ล้าน

สำหรับธุรกิจนมโรงเรียนทั้งระบบวงเงิน 1.4 หมื่นล้าน แบ่งเป็นค่าน้ำนมดิบประมาณ 9 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือหักเป็นค่าใช้จ่าย ค่าขนส่ง ค่าผลิต ค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ซึ่งจากที่ผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับจัดสรรพื้นที่จำหน่าย 67 ราย ถูกบังคับให้ผลิตนมกล่องยู.เอช.ทีไว้ในช่วงปิดเทอม ประเมินมีสต๊อกนมรวมกันคิดเป็นมูลค่า 200-300 ล้านบาท จะเร่งทำหนังสือให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวนี้ว่าจะหาทางออกอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ฯ การแก้ปัญหาในฐานะผู้บริหารจะต้องเอาองค์กรให้อยู่รอดก่อน สมาชิกร่วม 1 พันคนจะต้องได้รับค่าน้ำนมดิบทุก 15 วัน พนักงานจะต้องได้รับเงินเดือนตรงเวลา ค่าไฟฟ้าก็ต้องจ่าย อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไปดูว่าควรทำวิธีไหน

“ผมไม่ได้โทษ และไม่ได้โกรธใคร รวมทั้งขออภัยทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ผมเป็นต้นเหตุให้ทุกคนตกอกตกใจ ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ส่วนแนวความคิดที่ให้นำน้ำนมดิบมาผลิตใส่กล่องในช่วงปิดทอม เป็นความคิดของผู้ประกอบการ-เกษตรกร อย่าไปโทษคุณธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ เพราะในที่ประชุมมีการถกเถียงกันถึงกรณี โรงนมพาสเจอร์ไรส์ ไม่ค่อยรับนมช่วงปิดเทอม ท่านปลัดก็บอกว่าไม่ได้ คุณค้าขายก็ต้องค้าขาย 365 วัน ไม่ใช่คุณค้าขายเพียง 260 วัน พอโรงเรียนปิดเทอมแล้วปิดโรงงานหนี ส่วนอีก 105 วันคุณจะต้องรับน้ำนมดิบและจะต้องรับผิดชอบเกษตรกร ที่ผ่านมาไม่มีใครเปิดเผยข้อมูลความจริงให้สังคมทราบเพราะทุกคนให้สังคมรับรู้เพียงด้านเดียว ว่าเดือดร้อน ไม่สะท้อนความจริงกัน เพราะถ้าหากสะท้อนความจริงจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด”

วันนี้จะทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์นมกล่องที่คาโกดัง ทางมิลค์บอร์ดจะต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าจะนำนมกล่องที่ผลิตส่งให้ก่อนช่วงเปิดเทอมเป็นกรณีพิเศษ ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ราคา 1.24 บาทต่อกล่อง (ราคานมพาสเจอไรซ์ชนิดกล่อง ถุงละ 6.58 บาท ส่วนนม ยู.เอช.ที กล่องละ 7.82 บาท) จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ทางผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 67 รายมาหารือร่วมกันเพราะต้องแบกค่าใช้จ่าย ค่าเช่าโกดัง ค่าน้ำนมดิบ แต่กลับค้าขายไม่ได้ เพราะล็อกกฎไว้ว่าช่วงเด็กเปิดเทอมจะต้องดื่มนมพาสเจอไรซ์

ส่งสัญญาณปลายปีนมล้น

“อำนวย” กล่าวอีกว่า ปลายปีนี้มีแนวโน้มนมจะล้นระบบ เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกร/ผู้ประกอบการเวียดนามไม่ได้มาซื้อแม่วัวนมจากไทยเลย วันนี้ราคานมผงถูกมาก ในอดีตเวียดนามน้ำนมดิบ กิโลกรัมละ 12 บาท ไทยน้ำนมดิบกิโลกรัมละ 19 บาท ปัจจุบันเวียดนามน้ำนมดิบเหลือกิโลกรัมละ 7 บาทกว่า เพราะเวียดนามค่อนข้างเสรีราคานมจะอ้างอิงกับราคาต่างประเทศ แต่ของไทยรัฐบาลมีประกันราคา ถือว่าเป็นผลดีกับเกษตรกร ดังนั้นจะต้องแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไร ปัจจุบันน้ำนมดิบทั้งระบบตกวันละ 3.3 พันตัน นมโรงเรียนใช้ไม่ไม่เกิน 1.3 พันตัน คาดว่าน้ำนมดิบ ปี 2559/2560 จะมีน้ำนมดิบ 3.6 พันตัน ช่วงเดือนพฤศจิกายน2559 -มกราคม 2560 จะล้น ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการเตรียมรับมือ อย่าหวังที่จะขายนมโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการจะต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการทำตลาดนมพาณิชย์ด้วย

ปั้นแบรนด์คิว-ไลฟ์บุกตลาด

ดังเช่นปัจจุบันสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นมีการผลิตนมกล่องทั้งนมขืด นมหวานแบรนด์ คิว-ไลฟ์ รวมถึงนมเปรี้ยวรสต่างๆ วางจำหน่ายโมเดิร์นเทรดในประเทศ รวมทั้งจำหน่ายในร้านค้าสหกรณ์ด้วย และยังได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายน้ำนมกัมพูชา และล่าสุดประเทศจีน เพิ่งส่งในปีนี้ นอกจากนี้สหกรณ์ฯยังรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ "ดูเม็กซ์" และรับจ้างผลิตนมผงให้บจก. ซีพี-เมจิ ด้วย

ดันเที่ยวเกษตรเชื่อมพระตะบอง

“อำนวย” กล่าวอีกว่า อาณาจักรของสหกรณ์โคมนมวังน้ำเย็นมีพื้นที่กว่าพันไร่ มีธุรกิจคิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 4 พันล้านบาท (มีฟาร์มโคนม ศูนย์รับน้ำนมดิบ โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นม โรงสีข้าว โรงงานอาหารสัตว์ สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าสวัสดิการ และอื่นๆ ) มีรายได้เฉลี่ยปีละ 3 พันล้านบาท ซึ่งรายทรงตัวมา 2 ปีแล้ว ปีนี้เกิดภัยแล้ง น้ำไม่มี ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการซื้อน้ำมาเลี้ยงโคในฟาร์ม 1 พันตัว อย่างไรก็ดีปีนี้คาดจะมีรายได้เพิ่ม 10% หรือประมาณ 3.2 พันล้านบาท ส่วนผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้เป็นบวก

“อนาคตในอีก 1-2 ปีจะทำให้ที่นี่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศน์ จะสร้างสถานที่พักโรงแรมหรือรีสอร์ท หรือพื้นที่แต่ละจุดควรจะเพิ่มอะไรบ้าง โดยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรมาออกแบบให้ ที่นี่มีจุดเด่นอยู่แล้วทั้งมีโรงงานแปรรูปนมพาสเจอไรซ์ โรงงานนมยูเอชที และโรงงานนมผงแห่งเดียวในประเทศมีลักษณะแบบโรงงานเปิด สามารถให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมได้ จะได้เห็นเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำนมระดับมาตรฐานโลก จะเชื่อมโยงท่องเที่ยวไปกัมพูชาที่อยู่ห่างจากสหกรณ์เพียง 16 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองพระตะบอง จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ ทะเลสาบคำพิงปวย อนุสาวรีย์พญาตะบองขยุง และวัดดำเรยซอหรือ วัดช้างเผือก เป็นวัดตระกูลอภัยภูเบศร์ มีตราแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 แห่งพระราชอาณาจักรสยาม เป็นต้น นี่เป็นแผนการเติบโต”

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559