คาดตลาดไทยเที่ยวไทยปี’59 ขยายตัวร้อยละ 6.5

08 มิ.ย. 2559 | 06:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “คาดตลาดไทยเที่ยวไทยปี’59 ขยายตัวร้อยละ 6.5”

ประเด็นสำคัญ

•คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะภัยแล้งส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของประเทศ (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) แต่ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวทางทะเล (ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้) ยังได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าที่มองหากิจกรรมคลายร้อน

•ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาให้เฝ้าระวังปรากฏการณ์ลานีญา คงต้องติดตามเรื่องปริมาณน้ำฝนในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยอาจกระทบนักท่องเที่ยวในเรื่องการเดินทาง และกระทบการจัดการ/การเตรียมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

•ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 146.5 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากปี 2558 และอาจจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทยมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 12.6  ในปี 2558

แม้เม็ดเงินการใช้จ่ายของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศจะมีมูลค่าน้อยกว่าตลาดต่างชาติเที่ยวไทย โดยรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดไทยเที่ยวไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ แต่ในช่วงที่ผ่านมาตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยพยุงสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศหลายครั้ง อีกทั้งยังนำพาความยั่งยืนมาสู่การท่องเที่ยวไทยและการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น เนื่องจากช่วยกระจายเม็ดเงินไปยังเมืองท่องเที่ยวรอง ทั้งนี้ นอกจากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2559 แล้ว การสานต่อแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS ที่มีการทำการตลาดครอบคลุม 24 จังหวัด คาดว่าจะช่วยดึงดูดผู้คนและเม็ดเงินการใช้จ่ายกระจายไปยังหลากหลายพื้นที่

สภาพอากาศแปรปรวนกับตลาดไทยเที่ยวไทยปี’59

ภาวะแล้งกระทบในช่วงครึ่งแรก... ติดตามช่วงเข้าสู่โลว์ซีซั่นในช่วงครึ่งหลังของปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2559 จะขยายตัวต่อเนื่องแต่เป็นอัตราที่ชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า และสภาพอากาศที่กระทบแหล่งท่องเที่ยวในบางพื้นที่

แม้ภาวะภัยแล้งส่งผลให้บางพื้นที่ไม่เอื้อต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว… แต่โดยภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี’ 59 ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาว ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศเติบโตจากแรงหนุนสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการเฉพาะเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 และการขยายมาตรการนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวภายในประเทศมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตลอดทั้งปี 2559

ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของบรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในบางพื้นที่ของไทย อย่างภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องกับการปรับตัวของผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้อาจลดลง รวมทั้งอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติภัยแล้ง โดยในพื้นที่ที่ต้องมีการซื้อน้ำต้นทุนค่าน้ำของธุรกิจโรงแรมอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.0 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (จากกรณีปกติที่ต้นทุนค่าน้ำของธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.04-1.50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด)

ในอีกด้านหนึ่ง จากวิกฤติภัยแล้งข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ผู้คนมองหากิจกรรมคลายร้อน อย่างกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล/น้ำ อย่างธุรกิจสวนน้ำน่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 ตลาดสวนน้ำในไทยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดมูลค่าประมาณ 3,100-3,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0-13.0 จากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่น่าจะได้รับอานิสงส์และมีความคึกคักตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีลูกค้าหลัก คือ คนกรุงเทพฯ ด้วยมีระยะทางไม่ไกลและระหว่างเส้นทางมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งลูกค้าบุคคลทั่วไปและลูกค้าองค์กรไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสวนน้ำ กิจกรรมแอดเวนเจอร์ กีฬากอล์ฟ รวมถึงปลายทางท่องเที่ยวในภาคใต้ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย อย่างภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น อาทิ จังหวัดชลบุรี (ทุกพื้นที่ เช่น บางแสน พัทยา) ที่ตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทยเติบโตเป็นเลขสองหลัก และคาดว่าตลอดทั้งปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ซึ่งสูงกว่าภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยในปีนี้ (คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.5)

 ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยครึ่งหลังของปี’59... เฝ้าระวังปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจส่งผลให้มีฝนตกหนักในฤดูฝน (โลว์ซีซั่น) ที่อาจกระทบการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ของไทย แต่คาดว่าบรรยากาศจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงไฮซีซั่น (ไตรมาสสุดท้ายของปี)

สำหรับบรรยากาศตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีหลายปัจจัยหนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องวันหยุดและการใช้สิทธิในช่วงโค้งสุดท้ายสำหรับการนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี   โดยในช่วงโลว์ซีซั่น (ไตรมาส 3) บรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยวไม่เอื้อต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นภูเขาและทะเล (อย่างภาคเหนือ ภาคตะวันออก เป็นต้น) เพราะในช่วงฤดูฝนการเดินทางไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้ของธุรกิจในพื้นที่ แต่ในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างภูเก็ต กระบี่ น่าจะยังคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว

คนไทย เนื่องจากคนไทยบางส่วนเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงนี้ ด้วยผู้ประกอบการอย่างธุรกิจโรงแรมและธุรกิจสายการบินมีการจัดโปรโมชั่นด้านราคาที่เข้มข้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งช่วยชดเชยช่วงโลว์ซีซั่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางตลาด อย่างตลาดยุโรป เป็นต้น

ขณะที่บรรยากาศในช่วงไฮซีซั่น (ไตรมาส 4) คาดว่า คนไทยจะยังมีแผนเดินทางท่องเที่ยว/พักผ่อนกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนบนของประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี หนองคาย เป็นต้น โดยนอกจากจะเดินทางไปสัมผัสอากาศและชมไม้ดอกเมืองหนาวแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาและสปป.ลาวได้  ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ

คาดทั้งปี’59 ตลาดไทยเที่ยวไทยสร้างเม็ดเงินมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท

ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2559 ก่อให้เกิดเงินสะพัดมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท

ภาพรวมตลอดปี 2559 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 146.5 ล้านคน-ครั้ง  เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากปี 2558 ที่ประมาณการว่ามีจำนวนประมาณ 138.0 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดสะพัดไปยังธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ชะลอตัวจากปี 2558 ที่ประเมินว่าขยายตัวร้อยละ 12.6 อย่างไรดี คงต้องติดตามปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของไทย อย่างหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยบางกลุ่ม

สำหรับแรงหนุนในปี 2559 ภาครัฐยังคงสานต่อมาตรการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันหยุดยาวตั้งแต่ปลายปี 2558 ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาดที่ในปี 2558 ช่วยกระตุ้นเมืองท่องเที่ยวรองของไทยให้มีความคึกคักมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการเดินทางไปท่องเที่ยวใน 12 จังหวัดภายใต้โครงการฯ ในปี 2558 มีจำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 สูงกว่าการเติบโตโดยรวมของตลาดไทยเที่ยวไทยที่ประมาณร้อยละ 7.8 สำหรับจังหวัดที่มีการเติบโตที่โดดเด่น คือจังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่ร่วมกันผลักดันให้บุรีรัมย์เป็น Sport Destination จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนมีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปชม/ร่วมการแข่งขันกีฬาและเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่

ขณะที่ในปี 2559 ภาครัฐดำเนินการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย ด้วยการทำแคมเปญภายใต้ชื่อโครงการ “12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS” โดยทำการตลาดครอบคลุม 24 จังหวัด ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดให้ผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรองของไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 จะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวใน 24 จังหวัดภายใต้โครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS จำนวน 46.72 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และสร้างเม็ดเงินสะพัดมูลค่าประมาณ 1.36 แสนล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 10.0 อย่างไรก็ดี แม้จะมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในบางจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมในตอนนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มาก เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมเฉพาะพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมสาธารณูปโภคพื้นฐาน ความเพียงพอของธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง อย่างธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

ผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์การตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล... ใช้ประโยชน์จากนโยบายรัฐและการเชื่อมต่อ CLMV

สำหรับการทำการตลาดเพื่อให้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั้น ผู้ประกอบการอาจจะหันมาใช้ประโยชน์จากการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำนวนไม่น้อยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเป็นเครื่องมือในการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมและแนวโน้มผู้บริโภค เช่น คนไทยนิยมสืบค้นข้อมูลท่องเที่ยวผ่านสมาร์ทโฟน ดังจะเห็นได้จากสถิติในปี 2558 มีจำนวนคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อสืบค้นข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16  อีกทั้งคนไทยนิยมบริโภคสื่อประเภทคลิปวีดีโอดังจะเห็นได้จากชั่วโมงการเข้าชมวีดีโอของคนไทยในปี 2558 ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีชั่วโมงการเข้าชม YouTube มากที่สุดในโลก โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวส่วนหนึ่งให้บริการฟรีสำหรับบุคคลทั่วไป จึงเอื้อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวสามารถนำมาต่อยอดการทำการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรงและยังช่วยลดต้นทุนการทำการตลาด

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ ผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้จัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตร เช่น ธุรกิจทัวร์/ธุรกิจสายการบิน/ธุรกิจโรงแรมร่วมกับธุรกิจ FinTech ในด้านบริการการชำระเงิน/โอนเงิน (Payment/ Transfers) น่าจะช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าคนไทยที่มีการสืบค้นข้อมูล วางแผนท่องเที่ยว และตัดสินใจซื้อบริการที่เกี่ยวเนื่องในทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะตลาดผู้หญิงรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน และมีความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ ส่วนลูกค้าองค์กรผู้ประกอบการอาจจะพิจารณาเน้นตลาดกรุ๊ปทัวร์ที่ต้องการศึกษาดูงาน/แสวงหาโอกาสและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV โดยอาจจะเพิ่มกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดของไทยที่มีพรมแดนติดต่อ/เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน