ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อบัตร ATM แบบ chip card ปลอดภัยกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็ก

06 มิ.ย. 2559 | 04:39 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โพลล์ระบุ ประชาชน 57.34 เชื่อว่าบัตร ATM แบบ chip card ปลอดภัยกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็ก แต่ร้อยละ 64.51 ยังรู้สึกกลัวว่าจะถูกขโมยข้อมูลผ่านบัตร ATM ได้ และร้อยละ 75.44 เห็นว่าธนาคารไม่ควรเก็บค่าทำเนียมเปลี่ยนจากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา)   แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,144 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า บัตร ATM จัดเป็นบริการทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆมีให้กับลูกค้าของตนเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆผ่านตู้ ATM ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างได้อย่างสะดวกรวดเร็วแล้วยังเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางรวมถึงช่วยลดความหนาแน่นของผู้ที่ไปใช้บริการในสาขาของธนาคาร แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้สำหรับขโมยข้อมูลส่วนตัวบนบัตร ATM เพื่อนำไปใช้ทำบัตร ATM ปลอมและนำข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของบัตร ATM ไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของบัตรแล้ว ยังเป็นการสร้างความเสียหายให้กับธนาคาร จึงทำให้ในปัจจุบันการใช้บัตร ATM เกิดความปลอดภัยน้อยลง ด้วยเหตุดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้มีการเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card และเพิ่มรหัสจาก 4 ตัวเป็น 6 ตัว พื่อเพิ่มปลอดภัยจากการถูกขโมยข้อมูลและเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้บริการบัตร ATM โดยผู้ถือบัตร ATM แบบแถบแม่เหล็กต้องเปลี่ยนเป็นบัตรแบบ chip card ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 หลังจากนั้นจะมีการใช้บัตร ATM แบบ chip card ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการบัตร ATM ยังแสดงความกังวลต่อการใช้บัตรแบบ chip card และไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้สำหรับขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.61 เพศชายร้อยละ 49.39 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.12 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินเปรียบเทียบระหว่างการไปทำธุรกรรมที่ตู้ ATM กับทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคารนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.36 ระบุว่าตนเองนิยมทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM มากกว่าไปทำที่สาขาของธนาคาร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.86 ระบุว่าตนเองนิยมไปทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคารมากกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.78 นิยมพอๆกัน สำหรับประเภทของธุรกรรมทางการเงินที่กลุ่มตัวอย่างทำผ่านบัตร ATM สูงสุด 3 อันดับได้แก่ ถอนเงินสดคิดเป็นร้อยละ 91.52  ตรวจสอบสถานะ/เงินคงเหลือในบัญชีคิดเป็นร้อยละ 89.6 และชำระค่าสินค้า/บริการที่สั่งซื้อคิดเป็นร้อยละ 84.44  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.19 ระบุว่าตนเองไม่เคยสมัครใช้บริการบัตร ATM โดยที่ไม่เคยใช้บัตร ATM นั้นทำธุรกรรมใดใดเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.81 ยอมรับว่าเคย

ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.69 ทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้มีการเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 ขณะที่ยังมีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.31 ที่ยังไม่ทราบ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.58 ระบุว่าตนเองจะไปเปลี่ยนบัตร ATM จากบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card ภายในก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2562 รองลงมาระบุว่าจะรอจนบัตรใบเดิมหมดอายุคิดเป็นร้อยละ 28.58 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.15 ระบุว่าจะรอจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2562 กลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่ายังไม่แน่ใจซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14.69

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้บัตร ATM แบบ chip card กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.96 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มรหัสผ่านในบัตร ATM แบบ chip card จาก 4 หลักเป็น 6 หลัก จะมีส่วนช่วยลดโอกาสการถูกขโมยรหัสผ่านได้  อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.72 ยอมรับว่าการเพิ่มรหัสผ่านในบัตร ATM แบบ chip card จาก 4 หลักเป็น 6 หลัก จะมีส่วนเพิ่มโอกาสให้เจ้าของบัตรลืมรหัสผ่านได้มากขึ้น  ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.34 เชื่อว่าบัตร ATM แบบ chip card มีความปลอดภัยจากการถูกขโมยข้อมูลมากกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็ก  แต่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.51 ยอมรับว่าตนเองยังคงรู้สึกกลัวถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวในบัตร ATM แบบ chip card ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 72.64 เชื่อว่าในอนาคตจะมีการผลิตเครื่องมือมาเพื่อทำการขโมยข้อมูลส่วนตัวในบัตร ATM แบบ chip card ได้สำเร็จ  และกลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.44 มีความคิดเห็นว่าธนาคารต่างๆไม่ควรเก็บค่าทำเนียมในการเปลี่ยนจากบัตร ATM แบบแถบแม่เหล็กไปเป็นบัตรแบบ chip card ในกรณีที่บัตรเดิมยังไม่หมดอายุหรือชำรุดเสียหายหรือสูญหาย