นาฬิกาแบรนด์แห่เข้าตลาดคึก รับขาโจ๋วัยทำงาน / นักท่องเที่ยว

10 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายอาลาน ยี รองประธาน บริษัท ฟอสซิล เอเชียแปซิฟิก จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้า ภายใต้แบรนด์ “ฟอสซิล” (Fossil) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยยังเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อดี เห็นได้จากยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย กอปรกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ทำให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยร่วมกับบริษัท วารีรัม ประเทศไทย จำกัด นำเข้าแบรนด์ฟอสซิล มาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ 17 โดยได้เปิดร้านแฟลกซ์ชิพสโตร์สาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

“ตลาดนาฬิกาเมืองไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก มีความหลากหลายของแบรนด์นาฬิกาทั้งแบรนด์คลาสสิค และแบรนด์แฟชั่น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย รวมทั้งศักยภาพการเติบโต ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังดี บวกกับการท่องเที่ยวที่เติบโตถือเป็นปัจจัยบวก ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างการเติบโตได้ดี ฟอสซิลจึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาทำตลาด สำหรับแนวทางการทำตลาดในประเทศไทยนับจากนี้ จะชูจุดเด่นของแบรนด์ในความเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่มีความหลากหลายและสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยวางเป้าหมายที่จะมีสาขาครบ 10-15 แห่ง ภายใน 3 ปี”

นอกจากนี้แนวการทำตลาดจะยึดหลักเดียวกับประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ราว 80-90% ส่วนที่เหลือ 10- 20% เป็นการทำตลาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของพันธมิตรในแต่ละประเทศ เช่น การจัดหาพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งบริษัท วารีรัมฯ มีความแข็งแกร่งและมีแบรนด์ที่บริหารอยู่หลายแบรนด์ อาทิ วิคตอเรีย ซีเคร็ท ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ และจะสร้างแบรนด์ฟอสซิลให้ติดตลาดได้

โดยฟอสซิลจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวกขึ้นไป หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 22-30 ปี โดยสัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายประกอบด้วยนาฬิกา 25-35% กระเป๋า 45% และจะโฟกัสการทำตลาดกระเป๋าสะพายผู้หญิงขนาดกลาง เนื่องจากบริษัทมีกระเป๋าที่หลากหลายและกลุ่มผู้หญิงนิยมซื้อกระเป๋าหลายใบ ส่วนกลุ่มนาฬิกาวางเป้าหมายในอีก 3ปีข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งการตลาด 5% ซึ่งหลังจากทำตลาดในประเทศไทยแล้ว เตรียมแผนขยายตลาดไปอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

ด้านนางวิภาวรรณ มหาดำรงค์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทองพาณิชย์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกา อาทิ แบรนด์ซิติเซ็น มิโด บอลล์ และแฮมิลตัน กล่าวว่า ตลาดนาฬิการะดับราคาตั้งแต่ 1 หมื่นบาท-1 แสนบาท ยังมีโอกาสการเติบโตได้ จากพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อนาฬิกามาสวมใส่ แต่จะเลือกใช้นาฬิกาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาโดยเฉพาะ ไม่เน้นแบรนด์นาฬิกาแฟชั่น ขณะเดียวกันยังมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อนาฬิกาเป็นจำนวนมาก

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 4 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวมียอดขายเติบโต 15% ขณะที่ลูกค้าคนไทยยังทรงตัว ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัทยังมียอดขายเท่ากับปีก่อน ขณะที่ภาพรวมตลาดนาฬิกาลดลงประมาณ 5% จึงตั้งเป้าที่จะมีผลประกอบการโดยรวมเติบโต 5-7% โดยมีกลยุทธ์คือจัดโปรโมชั่นที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งเริ่มจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ แล้ว

“หลังจากที่บริษัทปรับราคาสินค้าลดลง เพื่อลดช่องว่างด้านราคากับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวนิยมซื้อนาฬิกาจากประเทศไทยมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่ทำให้ตลาดยังเติบโตได้ นอกจากชาวจีนแล้วยังมีชาวเกาหลีที่เป็นลูกค้าสำคัญ ล่าสุดบริษัทได้เป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาลูมินอกซ์ (Luminox) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระดับราคา 1.2-8 หมื่นบาท ที่คาดว่าจะทำยอดขายได้ 60-100 ล้านบาท เนื่องจากปรับลดราคาจากเดิมลงมา 10-15% และขยายจุดขาย 20 แห่งปีนี้ และเพิ่มเป็น 40 แห่งในปีหน้าด้วย”

นางสาวสายหยุด วิศัลยางกูร ผู้จัดการนาฬิกาและเครื่องประดับ คาลวิน ไคลน์ บริษัท สวอตช์ กรุ๊ป เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและทำตลาดนาฬิกา กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้านาฬิการาคาระดับกลางยังเติบโตได้ เมื่อเทียบกับนาฬิการะดับบน อาทิ แบนด์คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) ที่เป็นนาฬิกาแฟชั่น และชูจุดขายด้วยการผลิตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังมีราคาเข้าถึงได้ง่าย ในราคาเฉลี่ย 6 พัน – 1 หมื่นบาท ซึ่งแนวทางการทำตลาดได้เตรียมนำเข้าสินค้ารูปแบบใหม่ๆ กว่า 20 รุ่น 20 แบบ โดยวางแผนเปิดตัวทุกๆ 4 เดือน

สำหรับการทำตลาดในปีนี้ยังคงเน้นการจัดกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากความหลากหลายของสินค้าและรูปแบบที่พัฒนาให้มีความสวยงามขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ งานเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ การทำกิจกรรมซีอาร์เอ็มด้วยการส่งข้อมูลข่าวสารให้ลูกค้าโดยตรงทุกเดือน

นอกจากนี้จะเพิ่มร้านค้าตัวแทนจำหน่าย และอาจจะขยายพื้นที่เคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า หลังจากได้ทดลองขยายพื้นที่สาขาพารากอนไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ามองเห็นแบรนด์คาลวิน ไคลน์ได้ง่ายขึ้น และยังสามารถโชว์สินค้าได้หลากหลาย ส่งผลให้ยอดขายช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับคาลวิน ไคลน์ มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 15 แห่ง และแฟล็กชิฟ สโตร์ 1 แห่ง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559