ไทย-เกาหลีใต้ ลงนาม FTA เตรียมเจรจานัดแรกกลางปี 67

28 มี.ค. 2567 | 05:15 น.

“ภูมิธรรม” ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลีใต้เตรียมเจรจานัดแรกกลางปี 67 ตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในปี 2568 หรือต้นปี 2569 ผลักดันเปิดตลาดสินค้าและบริการของไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีมากขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นสักขีพยานการลงนามจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย – สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระหว่าง นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนายคอนกี โร (Keonki Roh) ตำแหน่ง Deputy Minister for Trade Negotiation ของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (Ministry of Trade, Industry and Energy: MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยใช้ชื่อว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลี” โดยสองฝ่ายคาดว่าจะเริ่มการเจรจารอบแรกภายในกลางปี 2567 และตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569

การจัดทำความตกลง EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทย โดยการจัดทำ FTA ฉบับนี้ จะเป็นการต่อยอดจาก FTA ที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การจัดทำความตกลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

ไทย-เกาหลีใต้ ลงนาม FTA เตรียมเจรจานัดแรกกลางปี 67

อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความสนใจร่วมกัน อาทิ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลง EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี อาทิ

  • ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป)
  •  ผลไม้เมืองร้อน (มะม่วง ฝรั่ง มังคุด)
  • ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (แป้ง ซอสและของปรุงรส)
  • ผลิตภัณฑ์ไม้  (ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด และเคมีภัณฑ์)

 

 ขณะที่สาขาบริการที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร

นอกจากนี้ ได้รับแจ้งจากฝ่ายเกาหลีว่า ในวันเดียวกันนี้ ทางกระทรวง MOTIE ได้จัดงานประกาศยุทธศาสตร์นโยบายการค้าใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาสำคัญ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพของสาธารณรัฐเกาหลี

“เกาหลีลงทุนในบ้านเราหลายหมื่นล้าน  อย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุง รถยนต์ KIA และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาก็สนใจอยากเปิดตลาดร่วมกับเรา ซึ่งเรายินดีต้อนรับ จะได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเกษตรกรไทยสนใจขยายตลาดไปเกาหลีเพิ่ม เช่น มังคุดและมะม่วง

ไทย-เกาหลีใต้ ลงนาม FTA เตรียมเจรจานัดแรกกลางปี 67

นอกจากนี้เรายังมีแหล่งผลิตอาหารที่เป็นที่ต้องการ เช่น ไก่แช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามทำให้ของเราส่งออกสินค้าให้มากที่สุด จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน” นายภูมิธรรม กล่าว

ในปี 2566 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,736.86 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์

สินค้าส่งออกสำคัญ

  • น้ำมันสำเร็จรูป
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
  • น้ำตาลทราย
  • แผงวงจรไฟฟ้า
  • และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม

ไทยนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าสำคัญ 

  • เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
  • แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์
  • และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ