ดูชัดๆ "ธุรกิจขายตรง" หรือ "แชร์ลูกโซ่" ก่อนถูกหลอก

09 มี.ค. 2567 | 13:04 น.

เปรียบเทียบข้อแตกต่าง ดูชัดๆระหว่าง "ธุรกิจขายตรง" หรือ "แชร์ลูกโซ่" ก่อนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อ หลอกหาตัวแทน ขยายทีม โฆษณาความสำเร็จ ผลตอบแทนเกินจริง

"ธุรกิจขายตรง" หมายถึง การทำการตลาด เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ในลักษณะของ การนำเสนอขาย ต่อผู้บริโภคโดยตรง โดยผู้ขายตรง ใช้การอธิบาย หรือ การสาธิตสินค้าเป็นกลยุทธ์หลักในการเสนอขาย ธุรกิจขายตรง มีกฎหมายรองรับ โดยต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ธุรกิจขายตรงบริษัทแรกของประเทศไทยคือ บริษัท ทัพเพอร์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว โดยนำวิธีการขายตรงเข้ามาเผยแพร่ และจากนั้นจึงได้มีการขยายตัวของตลาดขายตรงในวงกว้างขึ้น เช่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน "แชร์ลูกโซ่" ซึ่งผิดกฎหมายมักจะแอบแฝงเข้ามาในรูปธุรกิจขายตรง เนื่องจาก "ธุรกิจขายตรง" มีรูปแบบการขายแบบชั้น หรือ MLM (Multi-Level Marketing) แนวคิดการขายตรงหลายชั้นมีแนวคิดว่า เมื่อผู้ขายตรงชุดแรก (สมมุติว่าเป็นชุด ก.) หาผู้ขายตรงชุดต่อไปมาได้ (ชุด ข.) และสามารถขายสินค้าได้ ชุด ก. ก็จะได้ค่าหัวจากค่าสมัครของสมาชิกใหม่ทุกครั้ง หรือเรียกง่ายๆ ว่า การกินหัวคิว "Head Hunting"

หรือแม้แต่กลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ๆ ที่ใช้วิธีโฆษณาถึงความสำเร็จ ความร่ำรวยที่จะรับจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า มากกว่าการมุ่งเน้นไปยังคุณสมบัติของตัวสินค้า ก็มักมีผู้ได้รับความเสียหายร้องทุกข์จากการหลงเชื่อ แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้นจึงควรศึกษาความแตกต่างของ "ธุรกิจขายตรง" หรือ "แชร์ลูกโซ่" เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ดูชัดๆ "ธุรกิจขายตรง" หรือ "แชร์ลูกโซ่" ก่อนถูกหลอก

ความแตกต่าง "ธุรกิจขายตรง" หรือ "แชร์ลูกโซ่"

การจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง

  • ธุรกิจขายตรง ส่วนจดทะเบียนกับ สคบ. เเละดำเนินธุรกิจ ตามที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้ 
  • แชร์ลูกโซ่ ไม่มีการจดทะเบียน กับสคบ. หรือจดทะเบียนแต่ไม่ดำเนินธุรกิจตามที่ยื่นจดทะเบียนไว้

การรับสมัครสมาชิก

  • ธุรกิจขายตรง สามารถสมัครเป็นสมาชิก หรือไม่สมัครเป็นสมาชิกก็ได้ และไม่มีการบังคับซื้อสินค้า
  • แชร์ลูกโซ่ มีการเรียกเก็บค่าสมาชิก หรือในการสมัครเป็นสมาชิกนั้นมีการบังคับซื้อสินค้าตามที่กำหนด

การขายสินค้า

  • ธุรกิจขายตรง เป็นการเสนอขายสินค้าโดยตรงต่อผู้ซื้อ และไม่บังคับผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า ไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล
  • แชร์ลูกโซ่ ใช้การขายสินค้าบังหน้า แต่ในความเป็นจริงจะให้สมาชิก ชักชวนผู้อื่นมาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มเติม เพื่อร่วมลงทุนต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

ผลตอบแทน

  • ธุรกิจขายตรง สมาชิกจะได้รับผลตอบแทน ตามการขายสินค้าเท่านั้น
  • แชร์ลูกโซ่ มีการสัญญาว่าจะแบ่งประโยชน์ตอบแทนจากการหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่าย และชักจูงว่าจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินต้นที่ลงทุน

ดูชัดๆ \"ธุรกิจขายตรง\" หรือ \"แชร์ลูกโซ่\" ก่อนถูกหลอก

สินค้า

  • ธุรกิจขายตรง ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถนำไปขายปลีกได้จริง ผ่านขั้นตอนการนำเข้า และชำระภาษีอย่างถูกต้อง
  • แชร์ลูกโซ่ สินค้ามักมีคุณภาพต่ำ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเพื่อขายในราคาที่สูง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพร อัญมณี สินค้าเกษตร เป็นต้น

การคืนสินค้า

  • ธุรกิจขายตรง สามารถคืนสินค้า และรับสินค้าคืนได้
  • แชร์ลูกโซ่ มักไม่รับคืนสินค้า เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายคืน เพราะเงินหมุนเวียนของธุรกิจ ไม่ได้ผูกกับการซื้อขายสินค้าจริง แต่มาจากการระดมเงินทุนด้วยการหาสมาชิกแบบแชร์ลูกโซ่ 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การทำธุรกิจโดยมีลักษณะแชร์ลูกโซ่นี้ มักเป็นการมุ่งหารายได้โดยหลอกลวงระดมเงินทุนจากสมาชิก โดยการมุ่งหาสมาชิกใหม่ เพื่อชักจูงให้นำเงินมาลงทุนในกิจการ ทั้งที่ไม่มีการลงทุนจริง แล้วอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า มีผู้ที่ได้รับผลตอบแทนสูง อยู่จริง 

วิธีการที่แชร์ลูกโซ่ ใช้ในการบริหารจัดการคือ การจัดคิวเงิน หรือโยกย้ายเงิน โดยนำเงินลงทุนของสมาชิกรายใหม่ไปจ่ายให้แก่สมาชิกรายเก่า เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้อีก ก็จะไม่สามารถ จ่ายผลตอบแทนตามสัญญาได้ สุดท้ายมักปิดกิจการหนีไป

ทั้งนี้ ความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่นั้น มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี และโทษปรับตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่     

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , กองปราบปราม