หมูล้นตลาด 8 พันตัวต่อวัน พาณิชย์ วอนห้างงดจัดโปรฯ หวั่นกดราคาซื้อขาย

04 มี.ค. 2567 | 07:04 น.

กรมการค้าภายใน ผนึก กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ช่วยกันรณรงค์บริโภคเนื้อหมู หลังมีผลผลิตหมูเกิน 8,000 ตัวต่อวัน เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับเกษตรกร พร้อมขอความร่วมมือห้างงดจัดโปรโมชั่นช่วงนี้ หวั่นไปกดราคาซื้อ-ขาย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  รณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยดูแลราคาหมูให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ได้รับผลกระทบจากราคา เพราะขณะนี้ผลผลิตหมูมีชีวิตออกสู่ตลาดเกินความต้องการ เฉลี่ยวันละ 50,000 ตัว ขณะนี้อยู่ที่ 58,000 ตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด แม้ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์จะเร่งแก้ปัญหาไปแล้ว โดยการนำมาทำหมูหันบางส่วน 

ส่วนสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ 67-68 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนทางกับต้นทุนการเลี้ยงสุกรอยู่ที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งการตัดวงจรหมู จะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน

ทั้งนี้ กรมยังได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ให้งดการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเนื้อสุกร ราคาเนื้อหมูถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 130-131 บาทต่อกิโลกรัม และหากมีการนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชั่น เกรงว่าจะไปกดราคารับซื้อหมู และกระทบกับเกษตรกร

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ พบว่า แนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ.2567 ราคาอยู่ที่ 13.92 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวสาลี ราคาอยู่ที่ 7.74 บาทต่อกิโลกรัม ปลาป่น ราคาอยู่ที่ 32 บาทต่อกิโลกรัม 

“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งเท่าที่ติดตามดู ข้าวโพดทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลืองลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว พบว่า มีการทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว”ร.ต.จักรากล่าว

สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีความต้องการ ก็พร้อมที่จะทำการเชื่อมโยงให้ต่อไป