เกียรติ สิทธีอมร ชี้ "แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท" วางสนุ๊กตัวเอง

28 ก.พ. 2567 | 06:43 น.

เกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ชี้ "แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท" เพื่อไทยวางสนุ๊กตัวเอง แนะเร่งสร้างความชัดเจน แก้ปัญหาด้วยความจริงใจ หนุนช่วยคนรายได้น้อย โดยด่วน

จนถึงขณะนี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมโดยคณะอนุกรรมการ 2ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบ การกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีมติตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีระยะเวลา 30 วันก่อนนำกลับมาเสนอสู่คณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง 

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อีกครั้ง โดยถึงขณะนี้นายเกียรติ มองว่าควรต้องทำให้มีความชัดเจน เนื่องจากคำเตือนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะเห็นได้ว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายกกต. จนถึงกฎหมายพรรคการเมือง เพราะในวันที่หาเสียงรับปากเอาไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงวันที่ไม่สามารถทำตามที่รับปากเอาไว้ได้ ความรับผิดชอบคืออย่างไร 

นายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเติม เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

นายเกียรติ เน้นย้ำว่า ยังคงอยากเห็นนโยบายที่นำเงินไปช่วยเหลือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่เคยมีข้อมูลลงทะเบียนเอาไว้แล้ว คนกลุ่มนี้ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน  หากให้ความช่วยเหลือคนละ 10,000 บาท สามารถทำได้จากงบประมาณปกติ โดยไม่จำเป็นต้องลากมารวมเป็นโครงการเดียวกันก็ได้ 

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 5 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เท่ากับว่าไม่สามารถทำตามที่หาเสียงเอาไว้ได้ ซึ่งทางแก้ปัญหานี้นั้น เปรียบเหมือนรัฐบาลติดสนุ๊กแล้ว โดยรัฐบาลวางสนุ๊กไว้ แล้วสุดท้ายติดสนุ๊กตัวเอง ก็ต้องหาทางแก้ปัญหานี้ 

ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ใช้ความจริงใจกับประชาชน ด้วยการยอมรับกับประชาชนอย่างอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่เคยรับปากไว้ไม่สามารถดำเนินการได้จริงๆ ที่เคยคิดไว้ไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือประชาชนด้วยโครงการอื่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถอยู่รอดได้

แต่กรณีที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนได้นั้น เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ที่จะต้องชี้แจงกับกกต. หรือ ป.ป.ช. แต่เป็นที่ชัดเจนว่าหากจะออกเป็นกฎหมายเฉพาะย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งหากรัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเช่นเดิม ย่อมเกิดความเสียหาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และความน่าเชื่อถือของประเทศ

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เวิลด์แบงก์ ได้คำนวณตัวคูณทางเศรษฐกิจจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า จะอยู่ที่ 0.4-0.7% ของ GDP เท่านั้นในการดำเนินโครงการปีแรก (พ.ศ. 2567)  และจะลดลงในปีถัดไปเหลือเพียง 0.2 - 0.3 % ของGDP นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าไม่สามารถเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่พรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงเอาไว้ได้ 

สำหรับนโยบายหาเสียงในขณะนั้นที่กกต. ไม่ได้ท้วงติง คาดว่ากกต. เองก็คงไม่ทราบ ซึ่งกรณีที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ได้นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเท่านั้น แต่ยังมีนโยบายอื่นอีกด้วยที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เช่นการขึ้นค่าแรง เป็นต้น และไม่ใช่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ได้ 

นายเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ ใช้คำว่าไม่เป็นไรไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประเทศ พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมี หากไม่มีการแก้ปัญหาเหล่านี้ และไม่ทำให้เป็นตัวอย่าง เชื่อว่าประเทศไทยเดินไปต่อได้ยาก และจากกระทบกับความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกรูปแบบหนึ่งของประเทศไทย