จับตา สงครามตะวันออกกลาง เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ชนวน“Hot Spot ของโลก”

31 ม.ค. 2567 | 10:21 น.

อดีตบิ๊กทหาร -นักวิชาการ แนะจับตาเลือกตั้งหลายประเทศในปีนี้ มีผลต่อการกำหนดนโยบายผู้นำ หวั่นความไม่สงบในตะวันออกกลาง ยูเครน ความสัมพันธ์อเมริกาและจีน การสู้รบในเมียนมา นำมาสู่“Hot Spot” ใหม่ของโลก

กรุงเทพธุรกิจ จัดเวทีสัมมนา  “Geopolitics 2024 : จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” วันพุธที่ 31 มกราคม 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ 

โดยในการเสวนาหัวข้อ “Hot Spot ใหม่ที่โลกจับตา ไทยรับมือ” เป็นการสะท้อนมุมมองจาก พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม  รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง และนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร(สส.)

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง  กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ Geopolitics หรือภูมิศาสตร์การเมืองในปีนี้ ว่า สถานการณ์ที่เห็นได้ชัดคือ สงครายูเครน สงครามตะวันออกกลาง และคาบสมุทรเกาหลี และปีนี้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในอเมริกา ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าบทบาทของ “โดนัลด์  ทรัมป์”  เป็นต้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของจีนและอเมริกา 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

“มองว่า Hot Spot ที่สำคัญคือปัจจัย  4  ประการดังกล่าว ซึ่งเป็นอาการ ไม่ใช่เรื่องของต้นเหตุ สิ่งที่ต้องดูต่อคืออาการของการเปลี่ยนแปลงโลก แต่ตนมองว่า เป็นสภาวะโลกไร้ระเบียบ โดยสรุปสิ่งที่สำคัญคือ ตะวันออกกลาง ยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและจีน”

ด้านพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม  กล่าวว่า สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญกับ Geopolitics คือ การเลือกตั้ง ทั้งปี 2567 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งหลายประเทศทั่วโลก ที่ผ่านไปแล้วคือเลือกตั้งในไต้หวัน  จากนั้นเป็นมีเลือกตั้งที่อินโดนีเซีย  รัสเซีย เกาหลีใต้   อินเดีย และเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันที  5 พ.ย.2567  การเลือกตั้งทั้งปีน่าสนใจ เพราะผู้นำแต่ละคนมีบุคลิก มีนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกัน แต่ละประเทศ มีนโยบายต่างประเทศที่ต่างกัน ซึ่งนโยบายอาจเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนก็ได้

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมาถึงจุดเปลี่ยนขนาดใหญ่ในเมียนมา มีการต่อสู้ทุกชั่วโมง   ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย แรงงานเมียนมาอยู่ในไทย อาจมองเป็นปัจจัยบวก   แต่มองข้ามไม่ได้  ปี 2557 เกิดการสู้รบในเมียนมา วันนี้ผ่านมา 40 ปี วันนี้ยังไม่จบ คำถามว่าการสู้รบจะจะจบลงอย่างไร

ขณะที่นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร(สส.) กล่าวว่า  ประเทศไทย เราอยู่ใต้โดมของสงคราม ออกไปทางตะวันตกเราจะเจอเมียนมา  เลยออกไปจะเห็นวิกฤตในทะเลแดง เฉียงขึ้นไปเห็นกาซา อิสราเอล โค้งขึ้นไปเจอยูเครน-รัสเซีย   ซึ่งเป็นสิ่งดึงความขัดแย้งของโลกยุคสงครามเย็นกลับมาอีกครั้ง เราเห็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐอเมริกาฝ่ายหนึ่ง กับรัสเซียอีกฝ่ายหนึ่ง 

นอกจากนั้นเราเจอคาบสมุทรเกาหลี ที่อดีตผู้นำเกาหลีต้องการเป็นมหาอำนาจนิวเคลีย ทำให้มีผลกระทบกับคาบสมุทรเกาหลี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  อยู่ไม่เป็นสุข และเจอช่องแคบไต้หวัน เป็นจุดร้อนแรงมากเพราะเป็นประเทศผลิตชิป ทำให้โลกวิตกว่าจะกระทบกับซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบัน 

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร(สส.)

นอกจากนั้น ถ้าลงมาทางใต้ก็เจอทะเลจีนใต้ ซึ่ง 10 ประเทศอาเซี่ยนอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะ โขดหิน ในทะเลจีนใต้ และขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจของโลกคือจีน โชคดีที่จีนและประเทศอาเซี่ยนพยายามหาทางคุยกัน  อาจจะมีการปะทะกันบ้าง มีปะทะกับเรือประมงบ้าง  ไม่รู้จบสิ้น ทำให้สถานการณ์ในภูมิกาคของเรามันร้อนแรงขึ้นมา ภายใต้กรอบนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องต้องให้ความสำคัญทุกประเด็น

นายสุภลักษณ์  กล่าวถึงฉากทัศน์ในมียนมาว่า  การยึดอำนาจในเมียนมาสร้างผลสะเทือนมาก ครั้งนี้ถึงขั้นล้มสลายหรือไม่ การยึดอำนาจแล้วทหารต่อต้าน แต่มีคนต่อต้านเพราะไม่ต้องการไปอยู่ภายใต้การยึดอำนาจ คนเชื้อสายพม่าจับอาวุธต่อสู้  คนรุ่นปัจจุบันไม่ยอม มีการฝึกอาวุธ และมีปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา จนเกิดเหตุการณ์ลุกฮือ และยึดเมืองเมืองเล่าก์ก่าย ตอนนี้ฝ่ายต่อต้านยึดได้ 30 กว่าเมืองแล้ว สถานการณ์นี้กลุ่มต่อต้านคือกลุ่มชาติพันธุ์  เชื่อว่ากองทัพเมียนมา ที่เคยแข็งแกร่ง ตอนนี้อ่อนแอลง  ตัวเลขเหลือกำลังทหารจำนวนแสนห้าหมื่นคน 

ถานการณ์นี้เกิดความรุนแรง การต่อสู้ยืดเยื้อไปเรื่อย มีคนหนีตายมามาก และมีประชาชนหลายพันคนหนีการสู้รบมาออชายแดนไทย  จึงมองว่าจุด Hot Spot ของไทยส่วนหนึ่งคือปัญหาสู้รบในเมียนมา