แนะสร้าง hard power ก้าวข้าม "ค่าแรงขั้นต่ำ"

25 ม.ค. 2567 | 07:22 น.

ดร.ธนิต โสรัตน์ ตั้งคำถามถึงรัฐบาล หากไม่แข่งขันด้วยค่าแรงขั้นต่ำ อุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมแค่ไหน ฉายภาพการผลิตแบบ OEM ค่าแรงเป็นปัจจัยสำคัญ แนะรัฐวางแผนสร้างแบรนด์ไทยให้สำเร็จ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ค่อนข้างมีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เงินออมภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจที่จะนำไปใช้ในการขยายกิจการ ดังนั้นเงินลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเงินออมในประเทศกับความต้องการเงินทุน นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศยังมาพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technological transfer) และการถ่ายทอดความรู้ 


ในมุมมองของประเทศผู้ลงทุนนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกออกมาลงทุนในต่างประเทศแทนการลงทุนในประเทศตนเองคือ ค่าจ้าง เนื่องจากประเทศผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนา (Advanced economies) ซึ่งมีอัตราค่าจ้างที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องการออกมาลงทุนในประเทศอื่นที่มีค่าจ้างต่ำกว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่เมื่อไม่นานมานี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงแนวทางเรื่องค่าแรง เมื่อครั้งเดินทางไปประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส

นายเศรษฐากล่าวว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับทุกมิติ ทั้งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ  ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำไทยไม่ได้แข่งกันที่เรื่อง “ค่าแรง” เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อแรงงานไทย พร้อมทั้งชวนผู้นำในอาเซียนว่าต้องปรับตัว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องค่าแรง เมื่อครั้งเดินทางไปประชุม World Economic Forum

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) หากประเทศไทยจะไม่ใช้เรื่องค่าแรงมาเป็นประเด็นแข่งขันกับประเทศอื่นๆ 

ดร.ธนิต กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามจะหลุดออกจากการพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยหลุดพ้นจากประเด็นค่าแรงขั้นต่ำได้เลย แม้ในปัจจุบันตามความเป็นจริงคนไทยส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว 

แต่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะมีการอธิบายว่า เป็นค่าแรงที่ลูกจ้างได้รับ และต้องสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อีก 3 คน ซึ่งแท้จริงแล้วค่าแรงขั้นต่ำ ถูกกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองคนเปราะบาง เช่นคนชรา คนพิการ แรงงานต่างชาติ และเป็นเพียงค่าแรงแรกเข้า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือการยกฐานค่าแรงของต่างด้าวด้วย แล้วส่งผลให้ค่าแรงถูกยกขึ้นไปทั้งหมดด้วย

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

ดร.ธนิต ตั้งคำถามต่อประเด็นที่ประเทศไทยจะไม่ใช้เรื่อง "ค่าแรง" มาเป็นข้อแข่งขันว่า ประเทศไทยจะยังผลิตปลากระป๋องอยู่หรือไม่ เพราะอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังเป็น โรงงานผลิตปลากระป๋อง ผลิตผลไม้กระป๋อง โรงงานทำรองเท้า โรงงานทำเสื้อผ้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำด้วยมือ รวมถึงแรงงานภาคเกษตร ซึ่งหากจะไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านค่าแรงนั่นหมายความว่า เราจะ ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตเหล่านี้แล้วใช่หรือไม่

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็น 1 ใน 5 ของภาคอุตสาหกรรมไทย แต่เราเป็นเพียง OEM หรือ Origianl Equipment Manufacturer หมายถึง เป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่นๆเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากโรงงานในไทย คิดราคาแพง เจ้าของแบรนด์ก็จะเปลี่ยนไปจ้างรายอื่นที่มีราคาถูกกว่า

ประเทศไทยไม่มีรถยนต์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบรนด์ของตัวเอง ไม่มีแม้กระทั่งวิทยุแบรนด์ของคนไทยเอง ฉะนั้น หากค่าแรงแพงกว่าการเพียงนิดเดียว ก็อาจเกิดการย้ายฐานผลิตได้ ดูได้จาก สินค้า ในอดีต จะเห็นติดป้าย made in china ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น made in india ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนเป็น made in indonesia และในอนาคตจะพบป้าย made in cambodia มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านค่าแรง

 

ดังนั้นหากประเทศไทย ต้องการก้าวข้ามปัจจัยการแข่งขันด้าน"ค่าแรง" จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าของตนเองให้สำเร็จ เหมือนเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งด้วยมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และมีแบรนด์สินค้าของตนเอง ต้องวางแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในระยะ 5 - 10 ปี ข้างหน้าไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมของไทย สร้างแบรนด์ของประเทศไทย ส่งเสริมนวัตกรรมของไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง มิใช่เพียงการสนับสนุน soft power เท่านั้น แต่ต้องสร้าง hard power ให้มีความแข็งแกร่งด้วย