อุปสรรค "ค่าเหยียบแผ่นดิน" สายการบินเลือกเก็บนักท่องเที่ยวไม่ได้

23 เม.ย. 2566 | 11:18 น.

การจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 300 บาท ล่าสุดรมว.ท่องเที่ยว “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” จะเลื่อนการจัดเก็บออกไปจากวันที่ 1 มิ.ย. 66 เป็นวันที่ 1 ก.ย.นี้ เหตุจากระบบของสายการบินไม่สามารถเลือกเก็บนักท่องเที่ยวได้

การจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ล่าสุดรมว.ท่องเที่ยว “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” จะเลื่อนการจัดเก็บออกไปจากวันที่ 1 มิ.ย. 66 เป็นวันที่ 1 ก.ย.นี้

เนื่องจากการจะให้สายการบินจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บใหม่ โดยให้เก็บนักท่องเที่ยวทุกคนที่จองตั๋วเข้าไทยมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วทำ VAT Refund คืนทีหลัง

อุปสรรค "ค่าเหยียบแผ่นดิน" สายการบินเลือกเก็บนักท่องเที่ยวไม่ได้

แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมธุรกิจสายการบินหรือบอร์ดออฟแอร์ไลน์ (BAR) สายการบินนานาชาติกว่า 51 สายการบินร่วมเป็นสมาชิก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สายการบินไม่ได้ขัดข้องในเรื่องที่รัฐบาลต้องการจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งสายการบินพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีอุปสรรคการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นเดิน ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่

เรื่องที่ 1 คือ การจะแยกนักท่องเที่ยวที่ต้องถูกเรียกเก็บ และนักท่องเที่ยวที่ถูกยกเว้นไม่ต้องเก็บ ตามระบบของสายการบินไม่สามารถทำได้ เพราะการจะเก็บค่าธรรมเนียมรวมไปกับตั๋วเครื่องบิน ถ้าจะทำต้องเก็บทุกคน เหมือนที่สายการบินจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก หรือ (Passenger Service Charge : PSC) ให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.

แต่การจะให้มาแยกว่าผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้า 3 เดือน 6 เดือน เดินทางมาไทยเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพื่อแยกว่ากลุ่มไหนจะต้องถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือกลุ่มไหนที่ได้รับการยกเว้น สายการบินไม่สามารถแยกได้

เนื่องจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน จะเกี่ยวข้องกับระบบ GDS (Global Distribution System) ระบบสำรองที่นั่งโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งสายการบินต่างๆ ใช้ระบบแตกต่างกัน มีทั้ง ระบบกาลิเลโอ อมาดิอุส เซเบอร์ ซึ่งการจะพัฒนาระบบ เพื่อให้เก็บค่าธรรมเนียมในแบบที่รัฐต้องการ ต้องใช้เวลาอาจต้องใช้เวลา 5-6 เดือน และ GDS ในบางประเทศ อย่างจีน จะให้มาพัฒนาระบบเพื่อรองรับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

รูปแบบการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินของไทย

อีกทั้งหากจะให้สายการบินไปขอข้อมูลของผู้โดยสาร เพื่อนำไปแยกการจัดเก็บว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยว หรือไม่ใช่นักท่องเที่ยว หากผู้โดยสารไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

โดยทุกวันนี้ผู้โดยสารที่ทำ การจองตั๋ว เราก็จะรู้ชื่อและนามสกุลของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ข้อมูลในเรื่องของเชื้อชาติ สัญชาติ หรือภารกิจในการเดินทางเข้ามา เพศ วันเดือนปีเกิด หรือแม้แต่ อายุ ผู้โดยสารก็แทบจะไม่ได้บอกสายการบินอยู่แล้ว สายการบินจะมารู้เมื่อตอนผู้โดยสารมาเช็คอินว่าเขาถือสัญชาติอะไร

ประกอบกับการเลือกจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะเกิดข้อโต้แย้งกับผู้โดยสาร อาทิ ในกรณีผู้โดยสารบอกว่าไม่ได้มาเที่ยว แต่มาเรียนหนังสือ มาประชุม หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วถ้าเขาไม่จ่าย สายการบินจะทำอย่างไร เนื่องจากไม่มีกลไกและสายการบินไม่มีอำนาจที่จะไปปฏิเสธผู้โดยสาร

ทั้งการไม่ได้เรียกเก็บทุกคนสายการบินก็กังวลว่า ถ้าสายการบินเรียกเก็บไม่ครบ สายการบินก็จะมีปัญหา เนื่องจากจะให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท.บังคับใช้กม.ติดตามให้สายการบินต้องนำเงินส่งให้ภาครัฐ

รวมไปถึงยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการโต้แย้งในบางประเด็น เช่น ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากที่ไกล อย่าง แอฟริกา มาต่อเครื่องบินเข้าไทย เขาย่อมไม่ทราบแน่การเข้าเมืองไทยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ เพราะสายการบินไม่มีตัวแทนอยู่ในประเทศนั่น

เช่น ถ้านักท่องเที่ยวคนนี้มาต่อเครื่องบินที่ฮ่องกง โดยคาเธ่ย์แปซิฟิค สายการบินต้องพริ้นท์รายชื่อผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบิน แล้วนำส่งเงินส่งรัฐบาลไทย เงินจะเก็บได้หรือไม่ได้ไม่รู้ เพราะความสมบูรณ์ของข้อมูลไม่มี

เรื่องที่ 2 คือ สายการบินมีความกังวลเรื่องของกระบวนการในการส่งต่อข้อมูลของผู้โดยสาร กลัวว่าจะผิดกม.PDPA เพราะสายการบินไม่มีสิทธิไปขอข้อมูลในเชิงลึกของผู้โดยสาร เพื่อที่กระทรวงท่องเที่ยวฯจะนำไปดำเนินการไปซื้อประกันให้นักท่องเที่ยว และเป็นห่วงถ้าข้อมูลจะหลุดออกไป

สายการบินหวั่นว่าจะโดนฟ้อง ซึ่งสายการบินอยากจะแน่ใจถึงกระบวนการในการส่งต่อข้อมูลไปยังบุคคลที่ 3 ถ้าข้อมูลไปสู่ภาครัฐ ที่ตม.มีหมด เพราะรัฐมีอำนาจที่จะขอหรือเก็บข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามกม.

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สมาคมได้เสนอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯรับทราบมาโดยตลอดเพื่อขอความชัดเจน แต่ยังไม่ได้คำตอบกระทั่งล่าสุดที่รัฐบาลยืนยันว่าจัดเก็บค่าธรรมเนียมแน่นอน ทำให้ทางสมาคมต้องทำหนังสือถึงรมว.ท่องเที่ยว เพื่อขอความชัดเจนใน 2 ประเด็นข้อจำกัดดังกล่าว ที่สายการบินต่างๆ ตั้งข้อสังเกตไป เพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ ตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังได้เสนอทางเลือกอื่นให้กระทรวงพิจารณา แทนที่จะเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน แล้วมาทำรีฟันด์ เช่น การจัดเก็บผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งให้นักท่องเที่ยวโหลดและจ่ายเงินด้วยตัวเอง ยอมรับเอกสาร พอเข้ามาถึงไทยก็แสดงคิวอาร์โค้ด โดยทางเลือกนี้ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็คงอึดอัด

อุปสรรค "ค่าเหยียบแผ่นดิน" สายการบินเลือกเก็บนักท่องเที่ยวไม่ได้

เพราะเหมือนไปสร้างภาระงานเพิ่มและทุกวันนี้การตรวจคนเข้าเมืองก็มีคิวที่ยาวอยู่แล้ว ถ้าจะใช้วิธีนี้ก็ต้องมีระบบหลังบ้านที่ดี ส่วนการจะตั้งตู้คีออสเก็บเงิน ทางสนามบินก็ไม่ต้องการ เพราะไม่อยากให้เกิดคิวแน่นในสนามบิน หรือ บางประเทศ เช่น มาเลเซีย ก็เลือกจะเก็บที่โรงแรมซึ่งนักท่องเที่ยวไปเข้าพัก

ด้าน “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (ไออาต้า) ก็ได้ทำหนังสือถึงรมว.ท่องเที่ยวเช่นกัน โดยชี้แจงว่าการเลือกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นความเหลื่อมลํ้า ซึ่งขัดกับนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

เช่นเดียวกับ “สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว” (แอตต้า) ก็มองว่า การจัดเก็บ 300 บาทสำหรับการเดินทางเข้าไทย ก็เป็นภาระแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ในกลุ่มที่ มีกำลังซื้อไม่มาก หรือกลุ่มที่ใช้บริการสายการบินต้นทุนตํ่า

ส่วนการจัดเก็บ 150 บาทสำหรับการเดินทางเข้ามาทางบก ก็จะกระทบต่อการค้าการท่องเที่ยวชายแดน เพราะแม้รัฐจะยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้กับผู้ถือ border pass แต่นักท่องเที่ยวอย่างมาเลเซียที่เดินทางเข้าสงขลา ส่วนใหญ่จะใช้หนังสือเดินทาง เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วย Border Pass จะถูกจำกัดพื้นที่เดินทาง และการเดินทางเข้ามาก็มีความถี่สูง

การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินของประเทศต่างๆ

ท้ายสุดก็คงต้องรอความชัดเจนว่ารัฐจะพิจารณาอย่างไร และรัฐยังต้องรอการตีความของกฤษฎีกาด้วยว่าการจะเก็บค่าธรรมเนียมทุกคนหรือเก็บบางส่วนด้วย