ล็อตแรก ไทยส่งออก "ไข่ไก่" ไปไต้หวัน 3.2 แสนฟอง

22 มี.ค. 2566 | 10:45 น.

“เกษมชัย ฟู้ด” เจ๋ง ส่งออกไข่ไก่สด ล็อตแรก ไปไต้หวัน 3.2 แสนฟอง “มิสเตอร์ไข่ไก่” คาดปี 2566 ส่งออกไต้หวันได้กว่า 50 ล้านฟอง มูลค่า 230 ล้านบาท ต่างชาติเชื่่อมัน ไทยปลอดไข้หวัดนกนานกว่า 15 ปี

ตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ว่า ไทยสามารถเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่สดไปไต้หวันได้สำเร็จ และสามารถดำเนินการได้ทันทีในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเกิดจากความมั่นใจในมาตรฐานการผลิต คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหารของไทยนั้น

ล็อตแรก ไทยส่งออก "ไข่ไก่" ไปไต้หวัน 3.2 แสนฟอง

ล่าสุด วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือ “มิสเตอร์ไข่ไก่”  เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุไข่ไก่สดไปยังไต้หวัน ณ บริษัท เกษมชัย ฟู้ด จำกัด จังหวัดนครปฐม ว่า การส่งออกไข่ไก่ตู้แรกนี้ เป็นการส่งออกจากศูนย์รวบรวมไข่ไก่ที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออกจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 325,000 ฟอง มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท

ล็อตแรก ไทยส่งออก "ไข่ไก่" ไปไต้หวัน 3.2 แสนฟอง

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากประเทศไทยไปยังไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดใหม่ ส่งผลดีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค และสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เกษตรกรจำหน่ายในประเทศได้

สำหรับภาพรวมปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกไข่ไก่ได้ทั้งหมด 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท โดยยอดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนไข่ไก่สดเพราะการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์มีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี

ล็อตแรก ไทยส่งออก "ไข่ไก่" ไปไต้หวัน 3.2 แสนฟอง ทั้งนี้ถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่ที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่เชื่อมั่นของคู่ค้า จากนี้ไปจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายแห่งเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุลได้อย่างต่อเนื่อง

ผลสำเร็จจากการเปิดตลาดและส่งออกไข่ไก่สดครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่กรมปศุสัตว์กำกับ ดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดของทั้งกฎหมายไทย ระเบียบของคู่ค้า และหลักสากล