รู้จัก "มูลนิธิอมตะ" ที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ยกทรัพย์สินส่วนตัวให้สาธารณะ

18 มี.ค. 2566 | 04:37 น.

รู้จัก "มูลนิธิอมตะ" ที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ยกทรัพย์สินส่วนตัว 20,000 ล้านบาท ทั้งที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัว ให้แก่มูลนิธิเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย

ชื่อของ "วิกรม กรมดิษฐ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และประธาน "มูลนิธิอมตะ" ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง หลังจากเขา ใช้โอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะมูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัวอื่น ๆ เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง "มูลนิธิอมตะ" นำไปสู่หนึ่งในกลไกการยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย

วิกรม กรมดิษฐ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับ  "มูลนิธิอมตะ" ที่นายวิกรมทำพินัยกรรมบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวให้เป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยนายวิกรม กรมดิษฐ์ ภายใต้จุดมุ่งหมายสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์การศึกษาให้กับเยาวชนของชาติ การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

จากนั้นในปี 2540 นางสาววาสนา ฝักฝ่าย ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิอมตะ" ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 มีทุนเริ่มแรก เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท

หนังสือจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิอมตะ

วัตถุประสงค์เริ่มแรกในการจัดตั้ง "มูลนิธิอมตะ"

  • เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นความสําคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า
  • เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และ สัตว์ป่านานาชนิด
  • เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสัตว์ป่าที่เป็นประโยชน์ และมีพันธุ์น้อยลงไม่ให้สูญพันธุ์
  • เพื่อส่งเสริมการปลูกบํารุงพันธุ์พฤกษชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ให้มีพันธุ์มากขึ้น
  • เพื่อเป็นทุนและส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่มีระดับการเรียนอยู่ในขั้นดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือในกิจกรรมของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส
  • เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในงานอาชีพต่างๆ และการให้การสนับสนุนการประกอบอาชีพ
  • เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ 
  • ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

คณะกรรมการ "มูลนิธิอมตะ"

  • นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ
  • นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานกรรมการ
  • นายวิฑิต กรมดิษฐ์ กรรมการ
  • นางกอบกุล เสถียรสุต กรรมการ
  • นางสาวทรงโฉม ตั้งนวพันธ์ กรรมการ
  • นางวราภรณ์ วัชรานุเคราะห์ กรรมการและเหรัญญิก
  • นางสาววาสนา ฝักฝ่าย กรรมการและเลขานุการ

ต่อมาในปี 2542 นายวิกรม กรมดิษฐ์ ได้ยื่นคําร้องขอจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์ของ"มูลนิธิอมตะ" ใหม่ ดังนี้

  • เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า
  • เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าและรักษาธรรมชาติ 
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา
  • เพื่อส่งเสริมรักษาศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย 
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา
  • ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด 

โลโก้ "มูลนิธิอมตะ"

เป็นรูปเส้นขีดแนวนอนห้าเส้นเรียงต่อกันตามขนาดความยาวน้อยไปมากและซ้ายไปขวา มีตัวภาษาอังกฤษอยู่บนรูปเขียนว่า AMATA FOUNDATION  และมีภาษาไทยอยู่ใต้รูปเขียนว่า มูลนิธิอมตะ

โลโก้มูลนิธิอมตะ

สถานที่ตั้ง "มูลนิธิอมตะ"

  • สํานักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ อาคารกรมดิษฐ์ ชั้น 1 เลขที่ 2126 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
  • สํานักงานสาขาตั้งอยู่เลขที่ 700/7 หมู่ที่ 5 ตําบลหนองไม้แดง อําเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

โครงการ "มูลนิธิอมตะ" 

  • โครงการสร้างศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ และศิลปะแห่งภาคพื้นสุวรรณภูมิ อมตะ คาสเซิล นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์จัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะ และวัฒนธรรมทุกแขนงของศิลปินในยุคสมัยนี้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การละคร และสถานที่จัดสัมมนา จัดเลี้ยง ห้องสมุด ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิอมตะ เพื่อส่งผ่านและเป็นสื่อกลางของการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตามวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเอเชีย

อมตะคาสเซิล

  • โครงการศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด  เพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินไทยและส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะแขนงต่างๆ ในประเทศไทย ผลงานที่ได้รับรางวัลและผลงานที่ได้รับคัดเลือก จะนำไปแสดงในนิทรรศการศิลปกรรมที่จัดพร้อมกับพิธีมอบรางวัล "อมตะ อาร์ต อวอร์ด"
  • โครงการรางวัลเกียรติยศ นักเขียนอมตะ เพื่อเป็นการยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำผลงานเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สากล และถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูเกียรติประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ได้ทุ่มเทสร้างผลงาน
  • โครงการหนังสือ เป็นการจัดทำหนังสือที่เขียนโดยนายวิกรม กรมดิษฐ์ เช่น หนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" , มองซีอีโอโลก (1-10), มองโลกแบบวิกรม, กิน&อยู่แบบวิกรม, คาถาชีวิต, ชีวิตใหม่, คิดถึงแม่ ฯลฯ ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนกว่า 7 ล้านเล่มนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหนังสือ“คาถาชีวิต”ที่ทำลายสถิติ ทำยอดขายถึง 2 ล้านเล่มในระยะเวลา 3 เดือน หนังสือหลายเล่มในโครงการหนังสือนี้จำหน่ายในราคาไม่ถึงเล่มละ 1 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีโอกาสได้อ่านหนังสืออย่างทั่วถึง นอกจากนี้มูลนิธิได้บริจาคหนังสือกว่า 500,000 เล่ม ให้กับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ ผู้ต้องขัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เป็นประจำอีกด้วย

รู้จัก "มูลนิธิอมตะ" ที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ยกทรัพย์สินส่วนตัวให้สาธารณะ

  • โครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ (SPARK) เพื่อยกระดับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สู่อุทยานระดับโลก และใช้เป็นอุทยานฯ นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแก่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน
  • โครงการทุนอัจฉริยะ (The Genius Scholarship) โดยมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน โดยพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีอัจฉริยภาพ และความเลิศในทักษะด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน และอนาคต โดยเป็นทุนที่ให้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่าตามความสามารถของนักเรียนทุน หากนักเรียนทุนสามารถรักษาระดับผลการศึกษาไว้ได้ โดยไม่มีข้อผูกมัดแต่อย่างใด เมื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนทุนยังมีโอกาสได้รับการพิจารณาเข้าทำงานใน บมจ.อมตะ คอร์ปฯ หรือในนิคมอุตสาหกรรมอมตะตามสายงานที่ถนัดต่อไป

โครงการทุนอัจฉริยะ (The Genius Scholarship)

ข้อมูล รูปภาพประกอบ มูลนิธิอมตะ ราชกิจจานุเบกษา