ปิดดีลซื้อขายโรงแรมไทย 14 แห่ง มูลค่า 11,000 ล้าน"เจ้าสัวเจริญ"ช้อปสูงสุด

13 ก.พ. 2566 | 18:00 น.

JLL เผยยอดปิดดีลซื้อขายโรงแรมไทย ใน ปี 2565 รวม 14 แห่ง มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท "เจ้าสัวเจริญ"ช้อปสูงสุด ทำเลยอดนิยมมีพื้นที่ไหนบ้าง พร้อมคาดมูลค่าซื้อขายโรงแรม ปี 2566 ทะลุ 12,000 ล้านบาท

ล่าสุดจากข้อมูลงานวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายโรงแรมที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับการลงทุนเกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 14 รายการ ด้วยมูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวม 12,300 ล้านบาท เนื่องจากมีการซื้อขายบางรายการที่ดำเนินธุรกรรมเสร็จไม่ทันก่อนสิ้นปี

 

ส่วนในปี 2566 นี้ เจแอลแอลคาดว่า การลงทุนซื้อขายจะมีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาท จากการที่นักลงทุนยังคงให้ความสนใจต่อเนื่องในขณะที่มีโรงแรมคุณภาพเหมาะสมเสนอขายในตลาด

มูลค่าการซื้อขายโรงแรมในไทย ปี 2553-2566

นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา  รองกรรมการผู้จัดการภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยเกือบทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โควิด 

แต่เนื่องจากมีการซื้อขายบางรายการที่ดำเนินธุรกรรมเสร็จไม่ทันก่อนสิ้นปีถึงแม้จะทำสัญญาซื้อขายแล้ว โดยรายการซื้อขายเหล่านี้ มีมูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท และจะดำเนินธุรกรรมเสร็จในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้

แม้ปี 2565 มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมจะปรับลดลง 10.6% จากปี 2564 แต่ยังคงนับได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติการณ์โควิด โดยในปีนั้นมีการซื้อขายโรงแรมรวมมูลค่าเพียง 1,900 ล้านบาท

ปิดดีลซื้อขายโรงแรมไทย 14 แห่ง มูลค่า 11,000 ล้าน"เจ้าสัวเจริญ"ช้อปสูงสุด

รายงานของเจแอลแอลระบุว่า โรงแรมที่มีการซื้อขายในปี 2565 เป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน กระบี่ หัวหิน และเชียงใหม่ โดยกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุยยังคงเป็นทำเลยังคงเป็นทำเลยอดนิยมของนักลงทุน มีมูลค่ารวมกันคิดเป็นเกือบ 70% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

กรุงเทพฯ เป็นตลาดการซื้อขายที่มีมูลค่าสูงสุด คิดเป็นเกือบ 40% ของมูลค่าทั้งหมด โดยมีการซื้อขายสองรายการสำคัญ ได้แก่ Oakwood Studios Sukhumvit Bangkok ขายให้กับ Worldwide Hotels Pte Ltd (WWH) จากสิงคโปร์ และ Grand Mercure Bangkok Windsor ขายให้กับ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย โดยเจแอลแอลเป็นตัวแทนผู้ขายสำหรับทั้งสองรายการนี้

นายจักรกริชกล่าวว่า “สำหรับโรงแรมที่มีการซื้อขายในปี 2565 ผู้ขายทั้งหมดเป็นบริษัทหรือธุรกิจครอบครัวชาวไทย ใกล้เคียงกับในฝั่งของผู้ซื้อ ที่พบว่า 80% เป็นการซื้อโดยนักลงทุนไทย ซึ่งต่างจากปี 2564 ที่ราว 60% ของมูลค่าการซื้อขาย เป็นการซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติ”

เจแอลแอลระบุว่า AWC เป็นบริษัทที่ซื้อโรงแรมมากที่สุดในปีที่ผ่าน ทั้งนี้ นอกเหนือจาก Grand Mercure Bangkok Windsor แล้ว บริษัทยังได้เข้าซื้อ Westin Siray Bay ที่ภูเก็ต มูลค่าราว 2,500 ล้านบาท และ dusitD2 Chiang Mai ซึ่งได้ทำการตกลงซื้อขายในปี 2564 แต่ธุรกรรมการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565

อีกทั้งคาดว่า ปี 2566 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่คึกคักสำหรับตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมของไทย จากการที่นักลงทุนมีการแสดงความสนใจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีรายการเจรจาซื้อขายหลายรายการเกิดขึ้นในขณะนี้

ทำให้เชื่อได้ว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายในปีนี้จะขยับขึ้นไปถึงที่ระดับ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายปีของมูลค่าการซื้อขายในช่วง 10 ปีระหว่างปี 2553-2562 ก่อนเกิดวิกฤติการณ์โควิด นายจักรกริชกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการที่ปรึกษาและบริหารสินทรัพย์ หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า มีปัจจัยต่างๆ ที่จะเอื้อให้มีการซื้อขายโรงแรมมากขึ้นในปีนี้

ได้แก่ การที่เจ้าของโรงแรมหลายรายได้พยายามรักษาโรงแรมของตนไว้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของเหล่านี้บางรายกำลังพบกับความท้าทายมากขึ้น จากการที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เริ่มลดนโยบายการประนอมหนี้ ประกอบกับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากจีนกลับมาเปิดประเทศ ทำให้เจ้าของโรงแรมเหล่านี้ มีความมั่นใจมากขึ้นว่า ตนเองเริ่มอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในการเจรจาการขายกับนักลงทุนที่สนใจจะซื้อ”


ในด้านนักลงทุน เราพบว่า ยังมีทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติที่ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องในการเข้าซื้อโรงแรมที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับการลงทุนในประเทศไทย โดยผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่เจแอลแอลจัดทำขึ้น

แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นตลาดโรงแรมที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากญี่ปุ่น และออสเตรเลีย+นิวซีแลนด์ นายรัฐวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ซื้อกิจการโรงแรม 3 แห่ง ได้แก่

ดุสิต ดีทู เชียงใหม่  พร้อมงบลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพย์สินในโครงการของโรงแรม รวม 3 รายการ เป็นงบลงทุนเบื้องต้น 934 ล้านบาท รวมถึงโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ และ เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต มูลค่า 8,856 ล้านบาท

ปิดดีลซื้อขายโรงแรมไทย 14 แห่ง มูลค่า 11,000 ล้าน"เจ้าสัวเจริญ"ช้อปสูงสุด ปิดดีลซื้อขายโรงแรมไทย 14 แห่ง มูลค่า 11,000 ล้าน"เจ้าสัวเจริญ"ช้อปสูงสุด

นอกจากนี้ AWC ยังได้ลงนามสัญญาร่วมทุน และจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เอดับบลิวซี ฮอสปิทอลลิตี้ เดเวลอปเมนท์ จำกัด (AWC Hospitality Development Co., Ltd.) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศ โดย AWC มีแผนเพิ่มทุนรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,800 ล้านบาทอีกด้วย