กยท. ดีเดย์กดปุ่มปลายกุมภาฯ เปิดตลาดยางส่งมอบจริง

04 ก.พ. 2566 | 23:00 น.

กยท. เตรียมกดปุ่มเปิด “ตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงประเทศไทย” ดีเดย์ปลายก.พ.นี้ นำร่องยาง 3 ชนิด “น้ำยางข้น-ยางแผ่นรมควันอัดก้อน-ยางแท่ง” ช่วยเกษตรกร-ผู้ประกอบการลดเสี่ยงราคาผันผวน พร้อมช่วยแบกรับความเสี่ยงควักจ่ายก่อน 80% หากผู้ซื้อโอนเงินช้า

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เกิดจากการรวม 3 หน่วยงานในอดีต ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง โดยมีพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 รองรับซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ล่าสุดย่างเข้าสู่ปีที่ 8 ของกยท.มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจยิ่ง

 

อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากยท.เตรียมเปิดตลาดซื้อขายยางพาราในรูปใหม่ภายใต้ “ตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงประเทศไทย” อย่างเป็นทางการในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ รูปแบบการซื้อขายในหลักการคร่าวๆ ทั้งผู้ขาย (เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร) และผู้ซื้อทั้งจากภายในและต่างประเทศ (ผู้ประกอบการค้ายาง โรงงานยาง) ต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดและต้องมาขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ขาย-ผู้ซื้อกับ กยท.

 

โดยในการสั่งซื้อสินค้า (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ผู้ซื้อต้องกรอกรายละเอียดโดยแจ้งความประสงค์ประเภทยางพารา ปริมาณที่ต้องการ  วันเวลาที่ต้อง การรับมอบสินค้า โดยผลิตภัณฑ์ยางที่จะซื้อขายในครั้งนี้มี 3 ชนิดได้แก่ นํ้ายางข้น ยางแท่ง และยางแผ่นรมควันอัดก้อน ที่ผู้ซื้อสามารถนำไปแปรรูปต่อในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยการรับรองคุณภาพจาก กยท.

 

 

“ตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงประเทศไทยที่จะจัดตั้งเป็นตลาดใหม่เป็นการต่อยอด สู่ภาคอุตสาหกรรม ต่อเนื่องเช่นไปผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางยืด และอื่นๆ หรือแปรรูปขั้นกลางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยรูปแบบการซื้อขาย กยท.จะเป็นตัวประสานให้ผู้ซื้อผู้ขายตกลงปริมาณและราคากันก่อน ระยะเวลาส่งมอบอาจจะ 30 วัน 45 วัน หรือ 60 วันแล้วแต่ตกลงกัน ณ ราคากรุงเทพฯ ข้อดีคือ ผู้ขายจะสามารถบริหารต้นทุน และการผลิตได้ และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายาง ส่วนผู้ซื้อก็จะบริหารจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น และมีความมั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อของ จะต้องได้ของหรือสินค้าอย่างแน่นอน”

 

 

อัพเดทการซื้อขายยางในตลาดกลาง กยท.

นางสาวอธิวีณ์ กล่าวอีกว่า ในการซื้อขายของตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงฯ กยท.จะเป็นตัวกลางในการซื้อขาย การวางเงินมัดจำ การบริหารสัญญารวมถึง การออกใบสัญญาระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยคิดค่าบริการ 5 สตางค์ต่อกิโลกรัมซึ่งจะคำนวณเพื่อตั้งราคากลาง ณ ตลาดกรุงเทพฯในแต่ละวันเพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายนำไปคำนวณได้ว่าราคาเหมาะสมที่จะซื้อขายกันอยู่ที่เท่าใด นอกจากนี้ยังช่วยรับความเสี่ยงโดยจะสำรองจ่ายค่ายางให้ผู้ขาย 80% ของมูลค่าสินค้ากรณีผู้ขายส่งมอบยางครบตามสัญญา แต่ทางผู้ซื้อยังไม่โอนเงินให้

 

“ตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.อะไรที่ตลาดฯทำได้ หรือไม่ได้ ได้มีการปรึกษากับ ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นการซื้อขายจริง ส่งมอบจริง ไม่มีการซื้อขายสัญญา และก่อนที่จะมีการจัดตั้งได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมาคมยางพาราไทย สมาคมนํ้ายางข้นไทย สมาคมผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และองค์กร/สถาบันที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในประเทศ”

อย่างไรก็ดี กรณีมีการเบี้ยวสัญญาเกิดขึ้นภายหลัง ในระเบียบระบุชัดเจนว่าถ้าฝ่ายผู้ซื้อเบี้ยว จะยึดเงินมัดจำไปให้ฝั่งผู้ขาย แต่ถ้าผู้ขายที่วางยางพาราเป็นมัดจำเบี้ยวสัญญา ก็จะถูกริบยางไปให้ผู้ซื้อซึ่งขณะนี้ในรายละเอียดของข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ

 

ขณะเดียวกันจากที่ผ่านมา กยท.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราให้เข้าสู่ระบบของ FSC หรือ Forest Stewardship Council ซึ่งเป็นองค์กรจัดการด้านป่าไม้นานาชาติ ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและให้การรับรองป่าไม้ที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนการดูแลป่าไม้ทั่วโลกอย่างถูกกฎหมายและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน กยท.ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการยางพาราได้รับทราบแล้วว่า หากต้องการยางพาราที่เกษตรกรทำถูกต้องตามระบบ ของ FSC ให้มาที่ตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กยท.

 

ทั้งนี้เมื่อผู้ซื้อประสงค์จะซื้อยางแผ่นรมควัน นํ้ายางสด และยางก้อนถ้วย มาตรฐาน FSC กยท.จะเป็นผู้ประสานกับผู้ขายในแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้ เช่น ถ้าผู้ประกอบการอยู่ภาคใต้จะมีตลาดกลางยางพารายะลา, สงขลา, นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกที่ตลาดกลางฯระยอง ภาคอีสาน ที่ตลาดกลางฯหนองคายและบุรีรัมย์ ส่วนภาคเหนือ ที่ตลาดกลางฯเชียงราย เป็นต้น ส่วนไม้ยางจะอยู่ในเฟสต่อไป

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,859 วันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566