วุ่นปิด 3 สถานีรถไฟ สร้างทางวิ่ง ไฮสปีด 3 สนามบิน

03 ก.พ. 2566 | 06:04 น.

รฟท. วุ่นปิด 3 สถานีรถไฟ สร้างทางวิ่งไฮสปีด 3 สนามบิน พบแนวเส้นทาง สถานีกลางบางซื่อ ไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจากทุกพื้นที่

กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นสถานีที่ให้บริการด้านขนส่งทางราง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมในประเทศและอาเซียนในอนาคต โดยจะลดบทบาทสถานีหัวลำโพงแทน  

 

หลังจากที่มีการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อโดยกระทรวงคมนาคมมีแผนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ย้ายการให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) โดยจะปรับเปลี่ยนต้นทางและปลายทางขบวนรถ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อแทน จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน และสายใต้ จำนวน 20 ขบวน เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา สร้างความสับสนและการเดินทางเพื่อใช้บริการที่ยุ่งยากกว่าเดิม 
 

ทั้งนี้ยังพบว่าแนวเส้นทางของสถานีกลางบางซื่อในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจากทุกพื้นที่ได้ เนื่องจากในปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีนํ้าเงินเท่านั้น

 

ขณะที่การเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงที่กระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังคืบหน้าไปไม่ถึงไหน ทำให้โครงข่ายการเดินทางที่เชื่อมสถานีกลางบางซื่อยังไม่สมบูรณ์

 

ล่าสุด รฟท.ยังมีการปิดสถานีรถไฟดอนเมือง, บางเขน และสถานีหลักสี่ โดยมีการย้ายไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลาดใหม่ดอนเมือง) ให้บริการประชาชนแทน 
 

รายงานข่าวจากการ รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การปิดให้บริการสถานีรถไฟทั้ง 3 สถานีนั้น เนื่องจาก รฟท.มีแผนก่อสร้างทางวิ่งและสถานีรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) บริเวณช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างการรอพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาจากทางคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในโครงการดังกล่าว

วุ่นปิด 3 สถานีรถไฟ สร้างทางวิ่ง ไฮสปีด 3 สนามบิน

 “กรณีที่ รฟท.ยังไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) เพราะมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่า รฟท.จะออก NTP ได้ต่อเมื่อเอกชน คู่สัญญาได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าขณะนี้เอกชนคู่สัญญายังไม่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI” 

 

ขณะเดียวกันการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯให้กับเอกชนตามที่สัญญาระบุไว้ว่ารฟท. จะส่งมอบพื้นที่ในช่วงแรก คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว ส่วนช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งเคลียร์พื้นที่การเวนคืนที่ดินในช่วงราชวิถี รวมทั้งการแก้ไขปัญหารื้อย้ายท่อนํ้ามัน เชื่อว่าพื้นที่โครงการจะมีความพร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด 100% ภายในเดือนมิถุนายน 2566 

 

ส่วนรูปแบบการก่อสร้างทางวิ่งของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่รฟท.ปิดให้บริการสถานีรถไฟบางแห่งนั้น

 

ตามสัญญาที่มีแผนปรับแก้ไขในครั้งนี้ โดยการก่อสร้างโครงการฯที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) จะมีการปรับโครงสร้างงานก่อสร้างใหม่ โดยใช้โครงสร้างร่วมที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 160 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) แบบมาตรฐานยุโรปแทน ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้างที่วางไว้ 9,207 ล้านบาท ลดลง

 

จากเดิมที่มีแผนการก่อสร้างฐานตอม่อสามารถรองรับความเร็วของรถไฟฟ้าอยู่ที่ 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) แบบมาตรฐานจีน เบื้องต้นภาครัฐต้องการให้เอกชนเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะส่งผลต่อการเปิดให้บริการล่าช้า 

 

สำหรับข้อเสนอของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่มีการเจรจาจนได้ข้อสรุปและอยู่ระหว่างรอที่ประชุม กบอ.พิจารณา ประกอบด้วย

 

1. การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระ ค่าใช้สิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท

 

2. การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง

 

3. การส่งมอบพื้นที่โครงการตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท - บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์พญาไท - สุวรรณภูมิ

 

 4. การตีความพื้นที่ลำรางสาธารณะบริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน