รฟท.จี้บอร์ดกบอ.แก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

26 ม.ค. 2566 | 10:33 น.

"การรถไฟ" จี้บอร์ดกบอ.ไฟเขียวแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เร่งสางปัญหา 4 แนวทาง เผยสาเหตุดีเลย์ 2 ปี เร่งส่งมอบพื้นที่ครบทุกพื้นที่ครบ 100% ภายในเดือนมิ.ย.นี้

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน) ช่วงดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาว่า ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างรอผลการประชุมของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในโครงการดังกล่าว

 “ตอนนี้เราก็รอความเห็นจากทางคณะทำงานที่ทาง กบอ.แต่งตั้งขึ้น มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ว่าจะมีการพิจารณาและมีข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขร่างสัญญานี้อย่างไร เพราะจากทางการรถไฟฯ เราได้มีข้อเสนอไปหมดแล้ว โดยหากท้ายที่สุดเมื่อ กบอ.มีมติเห็นชอบแก้ไขสัญญา การรถไฟฯ ก็มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันที”

ขณะเดียวกันรฟท.อยู่ระหว่างการรอพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาจากทาง กบอ.แล้ว สาเหตุที่ขณะนี้ รฟท.ยังไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) เพราะมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่า รฟท.จะออก NTP ได้ต่อเมื่อเอกชนคู่สัญญาได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าขณะนี้เอกชนคู่สัญญายังไม่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯให้กับเอกชนตามที่สัญญาระบุไว้ โดยส่วนแรกที่จะส่งมอบ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว ส่วนช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งเคลียร์พื้นที่การเวนคืนที่ดินในช่วงราชวิถี รวมทั้งการแก้ไขปัญหารื้อย้ายท่อน้ำมัน เชื่อว่าพื้นที่โครงการจะมีความพร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด 100% ภายในเดือน มิ.ย. 2566

“ตอนนี้ภาพรวมโครงการล่าช้ามาประมาณ 2 ปีแล้ว ใจเราก็อยากให้แก้ไขสัญญาได้เร็วๆ นี้ เพราะภารกิจของเราก็คือการทำให้โครงการนี้แล้วเสร็จ ซึ่งการรถไฟฯ ก็มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ดีความล่าช้าที่เกิดขึ้น ก็เชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้างและให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ”

สำหรับข้อเสนอของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่มีการเจรจาจนได้ข้อสรุปและอยู่ระหว่างรอที่ประชุม กบอ.พิจารณา ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท

2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง

3.การส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท - บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์พญาไท - สุวรรณภูมิ

4.การตีความพื้นที่ลำรางสาธารณะบริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน